สคร.จี้ติด รสก. เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนสู้โควิดฯ
สคร. เร่งติดตามงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด หวังลดผลกระทบทางเศรษฐกิจซมพิษโควิด-19 เผย 44 รัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายงบลงทุน 9 เดือนแรกกว่า1.25 ล้านล้านบาท “รฟม.-ปตท.- 3 การไฟฟ้า” นำโด่ง
นายประภาศ คงเอียด ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า ได้ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแล โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 125,458 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บมจ. ปตท. และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรและการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สคร. มีการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและเร่งให้มีการเบิกจ่ายที่เร็วขึ้น (Front – loaded) เพื่อลดผลกระทบข้างต้น เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับผู้รับจ้าง การจ่ายค่าชดเชยของโครงการลงทุนต่างๆ ให้กับประชาชน ซึ่งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายประภาศ ย้ำ
ด้าน น.ส.ปิยวรรณ ล่ามกิจจา รอง ผอ. สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง 71,325 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 9 เดือน (ตั้งแต่ ต.ค. 2562 – มิ.ย. 2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง จำนวน 54,133 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 112ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค. – มิ.ย. 2563) โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย
เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่างและภาคตะวันตกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการล่าช้าต่อเนื่องมาโดยตลอด.