กกร.กดลงอีก! จีดีพีปี’63 เหลือ -9%
กกร.ปรับใหม่ ลดจีดีพีปี’63 เพิ่ม -9% เหตุ “ส่งออก – ท่องเที่ยว – การใช้จ่าย” ดาหน้าหดตัวแรง เผยเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ แม้เดือน มิ.ย.เริ่มดีขึ้น จี้รัฐบาลเร่งฟื้นคืนความเชื่อมั่นในทุกมิติโดยเร็ว
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย นายกลินท์ สารสิน ปธ.กก.หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะ ปธ. กกร. นายสุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย จากธนาคารกรุงเทพ ร่วมแถลงข่าวภายหลักการประชุม กกร. ณ ห้องบอลรูม 1 ร.ร.คอนราด กรุงเทพฯ เมื่อช่วงสายวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จะหดตัวน้อยลง แต่โดยรวมถือว่าเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์หลัก อย่าง ภาคการส่งออกหรือการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายภายในประเทศ ยังคงชะลอตัวอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าช่วงเวลาเวลาที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยมีแรงฉุดหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังพบสูงขึ้นและมีบางประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ฮ่องกง ฯลฯ ที่กลับมาแพร่ระบาดในรอบใหม่ ส่งผลให้การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ ยากจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ขณะเดียวกัน เงินบาทที่ผันผวนและเริ่มมีทิศทางแข็งค่า ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบจากกำลังซื้อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ชะลอตัว เมื่อรวมกับปัญหาความไม่แน่นอนในตลาดการจ้างงาน ทำให้ กกร.มองอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ -9% ถึง -7% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ -8% ถึง -5% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ส่งออกลงมาที่ -12% ถึง -10% จากเดิม -10% ถึง -7% ขณะที่ เงินเฟ้อใหม่ กกร.ยังคงคาดการณ์ไว้ที่ระดับเดิมคือ -1.5% ถึง -1.0%
“การได้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่มีตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมอยู่ด้วยนั้น น่าจะทำให้รัฐบาลมีความเข้าใจต่อปัญหาของภาคเอกชนได้อย่างลึกซึ้งและอาจนำมาซึ่งการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าที่แล้วๆ มา สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วหลังจากนี้ ก็คือ การฟื้นคืนความเชื่อมั่นของประเทศในทุกมิติกลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของประชาชน ของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ความเชื่อมั่นในระบบรักษาความจากไวรัสโควิดฯ รวมถึงความเชื่อมั่นในทางการเมืองภายใปประเทศ ซึ่งทั้งหมด มีผลต่อผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป” นายกลินท์ ย้ำ และว่า
จากนี้ไป รัฐบาลควรจะขยายเวลาในมาตรการความช่วยเหลือที่มีกับประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า โดยคงมาตรการช่วยเหลือทั้งหมดต่อไปจนถึงสิ้นปี 2563 เชื่อว่าไม่เพียงบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ หากยังมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่ายทั้งของภาคประชาชนและภาคธุรกิจได้อีกด้วย.