สทบ.ชูท่องเที่ยวพังงา ต้นแบบกองทุนหมู่บ้าน
“รักษ์พงษ์” ชูกิจการท่องเที่ยวกองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา สร้าง “ต้นแบบ” เพิ่มรายได้แก่สมาชิก ดึงเพื่อนต่างกองทุนทั่วไทยเที่ยววันธรรมดา ตั้งเป้าช่วงแรกคงยอดเดิมสู้วิกฤตโควิดฯ เน้นทำแพ็กเกจ พ่วงขายสินค้ากองทุน ย้ำ! ทุกสินค้าและบริการต้องมาจากกองทุนหมู่บ้านเท่านั้น
นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) พร้อมผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง เดินทางลงพื้นที่ กองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เพื่อเยี่ยมชมกิจการท่องเที่ยวโดยกองทุนหมู่บ้านของ กองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย โดยมี นายยงยุทธ จิตสำรวย นอภ.ท้ายเหมือง นายสุนันที โคบุตร ปธ.เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย และ ปธ.โครงการรีสอร์ทประชารัฐ นายอุทัย กิไพโรจน์ ประธานกองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ฯ คอยให้การต้อนรับ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3ส.ค.2563
นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ แต่ทุกวันนี้ยังคงมีเงินเหลืออยู่ในกองทุนฯเพื่อดำเนินกิจกรรมในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกฯ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ใช้จ่ายเงินหมดไปนานแล้ว และความเป็นนิติบุคคของกองทุนหมู่บ้าน ได้เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจมากกว่าการรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อเช่นที่เคยทำมาในอดีต
“จากที่เคยปล่อยเงินกู้ ทุกวันนี้กองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล สามารถทำธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่ม ผลิตข้าวบรรจุถุง ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารทะเลแปรรูป เปิดรีสอร์ทรองรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ แล้วยังสามารถจ้างลูกหลานสมาชิกในกองทุนฯมาทำงานได้อีก ถือเป็นจุดเด่นที่แตกต่างไปจากหน่วยงานอื่นๆ ที่สำคัญรายได้ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว ยังกระจายไปยังสมาชิกกองทุนฯทุกคน ต่างจากการท่องเที่ยวที่ไม่ได้บริหารจัดการโดยกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งรายได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะแค่คนไม่กี่คน”
ผอ.สทบ. ย้ำว่า กิจการท่องเที่ยวกองทุนหมู่บ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ถือว่าสมบูรณ์แบบและครบถ้วน ทั้งองค์ประกอบของการบริหารจัดการ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ฯลฯ ซึ่ง สทบ.พร้อมนำไปเป็น “ต้นแบบ” ให้กองทุนหมู่บ้านอื่นๆ ได้เดินทางมาศึกษาดูงาน อย่างไรก็ตาม จากรายได้ที่เคยมี ทว่าทุกวันนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้รายได้ลดลง ซึ่งจากนี้ไป ตนจะสั่งการไปยัง หน.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ ได้นำพาสมาชิกฯเดินทางมาศึกษาดูงานและท่องเที่ยวยังกองทุนหมู่บ้านที่ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โดยเน้นในช่วงวันธรรมดา เพื่อเปิดโอกาสให้กองทุนหมู่บ้านเหล่านั้น ได้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวภายนอกฯ ขณะเดียวกัน ก็จะกำชับให้กองทุนหมู่บ้านที่ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต้องสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากเพื่อนกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ เช่น ข้าวสาร น้ำดื่ม เป็นต้น
“ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถต่อยอดการขายสินค้า ภายในชุมชนที่ตั้งกองทุนหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร ของฝาก ของที่ระลึก รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น ซักรีด นวดแผนไทย ฯลฯ ขณะเดียวกัน ยังกระจายรายได้ไปยังชุมชนที่อยู่รายรอบได้อีก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี” นายรักษ์พงษ์ ระบุ
ด้าน นายสุนันท์ โคบุตร ปธ.เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย และ ปธ.โครงการรีสอร์ทประชารัฐ กล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยวของกองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย เปิดตัวเมื่อปี 2560 โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก สทบ. 8.7 ล้านบาท สร้างเป็นห้องพักอาศัย 4 หลัง รวม 8 ห้อง สร้างอาคารจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก 1 หลัง ห้องซักล้าง 1 หลัง อาคารห้องประชุมและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1 หลัง เรือแคนู 10 ลำ เสื้อชูชีพ 30 ตัว และวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น โดยปีแรกที่เปิดดำเนินการยังมีรายได้ไม่มากนัก เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก แต่พอปี 2561-2562 เริ่มมีรายได้มากขึ้นเป็น 3-4 แสนบาทต่อปี แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิดฯ ทำให้รายได้ในปัจจุบัน คาดว่าจะเหลือเพียง 1.5 แสนบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของ ผอ.สทบ. ที่จะเชิญชวนเพื่อนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ มาท่องเที่ยว น่าจะทำให้รายได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนๆ และจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป
สำหรับ แพจเกจท่องเที่ยวของกองทุนหมู่บ้าน ต.นาเตย ประกอบด้วย ห้องพักสำหรับ 2 วันหนึ่งคืน พร้อมอาหารเช้าและเย็น ซึ่งมื้อเย็นจะเป็นอาหารซีฟู้ดสดใหม่จากทะเล พร้อมกิจกรรมล่องเรือท่องเที่ยววิถีประมงพื้นบ้าน และพานเรือแคนู รวมถึงพานักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวยังสถานที่สำคัญๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น วัดน่าไทร ที่มีโบสถ์ไม้สักริมทะเล สวยที่สุดของภาคใต้ โดยคิดค่าใช้จ่ายต่อหัวราว 2,000-2,500 บาทต่อทริป
“กิจกรรมท่องเที่ยวที่ผ่านช่วงที่ผ่านมา กองทุนฯจะคิดค่าบริหารห้องพักวันละ 1,000 บาท ต่อห้องต่อวัน คิดค่าบริการเรือแคนู 200 บาทต่อครั้ง ไม่เกิน 2 ชม. ค่าอาหารหัวละ 300-350 บาท/คน ค่าบริการเรือท่องเที่ยววิถีประมงพื้นบ้านเที่ยวละ 700 บาท อย่างไรก็ตาม หากนักท่องเที่ยวซื้อแพจเกิจท่องเที่ยวจะได้ความคุ้มค่ามากกว่า ในราคาที่ถูกลง และหากเป็นการท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดา จะได้รับส่วนลดพิเศษเพิ่มเติมอีกด้วย โดยสมาชิกกองทุนฯเอง จะได้ประโยชน์จากการจำหน่ายอาหารทะเลสดและอาหารแปรรูป ของฝาก และของที่ระลึก รวมถึงงานบริการอื่นๆ ตามมา” นายสุนันท์ ย้ำ.