เวิลด์แบงก์ยอมรับการค้าเสรียังมีจุดอ่อน
ธนาคารโลกยอมรับว่า การขยายตัวของระบบการค้าเสรีทั่วโลกไม่ได้ประสบความสำเร็จไปทั้งหมด
โดยข้อมูลภายในองค์กรอย่างย่อที่ให้กับสำนักข่าวบีบีซีแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วคือ มีความไม่คงเส้นคงวาบ่อยมาก และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นค่าแรงที่ไมเท่าเทียมกัน
ธนาคารโลก ซึ่งจัดหาเงินกู้ให้กับประเทศกำลังพัฒนารายงานว่า ค่าใช้จ่ายในการปรับตัว เช่น การช่วยเหลือผู้คนที่ตกงาน กำลังปรับเพิ่มสูงขึ้นเกินคาดการณ์
ดร.จิม คิม ประธานธนาคารโลก กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เขาเข้าใจผู้คนที่โกรธเกรี้ยวในเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากความจริงที่ว่า การค้าเสรีเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทรงพลังที่สุดของการขยายตัวและความเจริญรุ่งเรือง
“ ผมได้ยินที่พวกเขากำลังบ่นว่า ชีวิตของเราไม่ได้ดีกว่าสมัยพ่อแม่ของเราเลย และชีวิตของลูกๆเราก็ดูจะไม่ได้ดีไปกว่าของเราด้วย ” เขากล่าว
ดร.คิมกล่าวว่า 20% ของงานที่หายไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอาจเชื่อมโยงกับการค้า ธุรกิจยานยนต์ และความจำเป็นในทักษะใหม่ๆของแรงงาน
โดยเขากล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องลงมือทำมากขึ้นเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ต้องสูญเสียงานของตัวเองไป
อ้างอิงจากเอกสารของเศรษฐกิจธนาคารโลก มีรายงานว่า การค้ามีบทบาทที่ทรงพลังอย่างสูงในการสร้างงานและเอื้อให้รายได้เพิ่้มสูงขึ้นในเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ดร.คิมกล่าวว่า ถ้าประเทศพัฒนาแล้วปิดพรมแดนและเริ่มมีการกีดกันทางการค้า จะเป็นเรื่องยากที่จะขจัดความยากจนอย่างที่ตั้งเป้าไว้ได้
ทั้งนี้ ดร.คิมกล่าวว่า ที่ผ่านมา มาตรการที่สำคัญจากองค์กรสำคัญ เช่น ธนาคารโลกซึ่งมีหน้าที่จัดหาเงินกู้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการขยายตัวของการค้าเสรีช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกสามารถหลุดพ้นจากความยากจน
เขากล่าวว่า องค์กรระหว่างประเทศต้องทำงานมากขึ้นเพื่ออธิบายให้เห็นชัดเจนถึง ความได้เปรียบของการค้าเสรีทั่วโลกสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่.