นับถอยหลัง…วิกฤติเหล็กไทย ใครจะช่วย?! ตอนจบ (5)
และด้วยเหตุปัจจัย สต็อกเหล็กจีนที่มีถึง 100 ล้านตัน จำต้องเร่งระบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศจีน ที่ได้กล่าวไว้ที่ตอนที่แล้ว
อุตสาหกรรมเหล็กในหลายประเทศ จึงกังวลต่อเหตุการณ์ดั๊มพ์ตลาดของเหล็กจีน และร้องขอให้รัฐบาลของตนเร่งออกมาตรการสกัดกั้น เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมเหล็กไทย
เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายการส่งออกลำดับต้นๆของจีน ฉะนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่สินค้าเหล็กดังกล่าวจะไหลทะลักเข้ามา
บทบาทของ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมโลหะไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น และสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน จึงปรากฏ…
ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศชาติ ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ธุรกิจที่ต่อเนื่อง รวมทั้ง แรงงานนับแสนราย อาจถูกกระทบ…
7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย จึงได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ นายกรัฐมนตรี กำหนดมาตรการช่วยเหลือใน 5 ข้อที่สำคัญคือ
- พิจารณาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด
- พิจารณาเร่งรัดการจัดทำระเบียบปฏิบัติที่ส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผู้ประกอบการสามารถผลิต และจำหน่ายให้กับงานโครงการของรัฐได้ โดยการให้แต้มต่อ 3-7% กับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพตาม มอก. และกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ (Local Content) 90% เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กทั้งห่วงโซ่การผลิต
3.พิจารณาเร่งรัดการบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อให้สามารถป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศได้อย่างทันท่วงที โดย เร่งรัดการจัดทำอนุบัญญัติเพื่อบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention: AC) และพิจารณาใช้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมการนำเข้าเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการจัดทำอนุบัญญัติ และยังไม่มีมาตรการ AC
เร่งรัดกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับสินค้าเหล็กที่อยู่ระหว่างการไต่สวน และ พิจารณาต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (SG)
4.พิจารณาดำเนินมาตรการตรวจติดตามเชิงรุก (Active Surveillance) ตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีการนำเข้าที่ผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม
และ5.พิจารณาใช้มาตรการ AD, AC, CVD, Safeguard หรือมาตรการห้ามนำเข้า ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 (ขึ้นกับสถานการณ์ความรุนแรง) กรณีที่มีการนำเข้าที่ผิดปกติ
โดยทาง 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย คาดหวังว่า 5 มาตรการนี้จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กสามารถยืนหยัด ต่อสู้ ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ต่อไปได้
เพราะหาก อุตสาหกรรมเหล็กต้องปิดตัว แน่นอนว่า บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องย่อมได้รับผลกระทบทั้งระบบ แบบโดมิโน… อย่างแน่นอน…
Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน จึงเป็นดังแสงสว่างของภาคเอกชน !!!