นับถอยหลัง…วิกฤติเหล็กไทย ใครจะช่วย?! (4)
ในตอนที่แล้ว ได้นำสาเหตุ ตัวเลข สต็อกสินค้าเหล็กที่ค้างในระบบเศรษฐกิจของจีนจำนวน 100 ล้านตัน มานำเสนอให้เห็นถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องเร่งระบาย ด้วยการออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการส่งออก โดยประกาศเพิ่มอัตราการชดเชยภาษี 3% สำหรับการส่งออกสินค้าเหล็ก
ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของทั้งภูมิภาคอาเซียนตลอดทั้งปีที่มีปริมาณ 80 ล้านตัน
เช่นนี้ อุตสาหกรรมเหล็กในต่างประเทศ จึงตื่นตัว…
ตื่นตัว ต่อ การดั๊มพ์ตลาดของเหล็กจีน เพราะตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตเหล็กจีนเสนอราคาลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 50 – 70 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
ขณะที่ราคาวัตถุดิบในการผลิตเหล็กทั้งสินแร่เหล็ก และถ่านหินเกรด Coking coal ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการถลุงเหล็กมีราคาปรับลดลงเพียง 8 และ 15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วงเวลาเดียวกัน
สถานการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันของผู้ผลิตเหล็กในประเทศจีนที่ต้องการเร่งการส่งออก จากปัญหาสต็อกส่วนเกินในปริมาณมหาศาลที่อยู่ในประเทศ ผนวกกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เพิ่มการชดเชยภาษีสำหรับการส่งออกอีก 3%
อุตสาหกรรมเหล็กในหลายประเทศได้จัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อสกัดกั้นการทุ่มตลาดเหล็กจากจีน
ดังจะเห็นได้จากท่าทีของ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าของสหรัฐฯ (American Iron and Steel Institute) ที่ได้ยื่นหนังสือถึงรองประธานาธิบดี Mike Pence ขอให้รัฐบาลให้คำแนะนำที่สอดคล้องกันทั่วประเทศ โดยการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ภาคอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นภาคการผลิตที่สำคัญ จำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กเป็นวัตถุดิบสำหรับการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม การซัพพลายน้ำและพลังงาน หากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตเหล็กที่เชื่อถือได้ในช่วงนี้ วิกฤตความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
นอกจากนั้นยัง ขอให้สภาคองเกรส บรรจุแพ็กเกจการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจาก COVID-19 ในระยะต่อไป เพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนไปสู่การฟื้นฟูประเทศ
โดยแพ็กเกจโครงสร้างพื้นฐานด้านการลงทุนที่วางแผนล่วงหน้าและมีประสิทธิภาพในระยะยาวจะส่งผลบวกอย่างมากในการสร้างงานและการเร่งการฟื้นตัวของประเทศ โดยขอให้รวมถึงการใช้วัสดุเหล็กและงานแปรรูปเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ
ฝากฝั่ง สหภาพยุโรป ทาง สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กสหภาพยุโรป (European Steel Association; Eurofer) ได้ขอให้คณะกรรมการสหภาพยุโรปทบทวนมาตรการ Safeguard และพิจารณามาตรการจำกัดการนำเข้าที่เข้มข้นมาก
โดยเสนอให้พิจารณาใช้มาตรการฉุกเฉินห้ามการนำเข้า ที่นอกเหนือมาตรการ Safeguard ซึ่งอนุญาตอยู่ภายใต้ Article XXI ของความตกลง GATT 1994 (ข้อยกเว้นทางความมั่นคง; Security Exceptions) เนื่องจากมาตรการ Safeguard ไม่ครอบคลุมประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเริ่มมีการทะลักของการนำเข้าและราคาที่ผิดปกติของสินค้าเหล็กที่มาจากประเทศรัสเซีย บราซิล และประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศจีน
ขณะที่ อุตสาหกรรมเหล็กสเปน ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลให้เป็น “Essential industry” ที่อนุญาตให้ดำเนินการผลิตได้ภายใต้การกำหนดสถานะการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 โดยให้ผู้ผลิตเหล็กดำเนินการผลิตภายใต้กิจกรรมการผลิตที่น้อยที่สุด
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหล็กของอินเดีย ยังได้แจ้งข้อแนะนำต่อรัฐบาลรัฐท้องถิ่นต่างๆ ให้ดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรักษาการขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กระหว่างรัฐ เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพภายใต้มาตรการปิดเมืองในสถานการณ์ COVID-19 อีกด้วย
เช่นเดียวกับ สถาบันเหล็กแห่งออสเตรเลีย (Australia Steel Institute; ASI) และสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (Australia Workers’ Union; AWU) ยื่นข้อพิจารณาต่อรัฐบาลออสเตรเลีย กรณีที่รัฐบาลดำเนินมาตรการปิดเมืองที่เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อชะลอการแพร่กระจายของ COVID-19 ทาง ASI และ AWU แนะนำให้รัฐบาลระบุให้อุตสาหกรรมเหล็กจัดอยู่ในประเภทภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็น โดยเหล็กเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของออสเตรเลีย ตั้งแต่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ไปจนถึงการดำเนินการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญที่ต้องพึ่งพาเหล็ก
เพราะหากส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมถูกปิด จะนำไปสู่การปิดตัวของอุตสาหกรรม และบริษัทต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบเป็นโดมิโน…
อุตสาหกรรมเหล็กในต่างประเทศล้วน หวาดกลัว ผลกระทบแบบโดมิโน จึงได้เร่งให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อปกป้อง ไม่ต่างจาก อุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหว เช่นกัน…
โปรดติดตามตอน(5)ต่อไป…