ธ.ก.ส.กันสำรองฯ 3 แสนล. อุ้มหนี้ SME-เกษตร
ธ.ก.ส.กันสำรองหนี้สูญ 3 แสนล้านบาท อุ้มลูกหนี้เอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีเกษตร หลังจ่อยื่นเสนอบอร์ดใหญ่ ยืดเวลาพักหนี้ถึงสิ้นปี 63 ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ 5 แสนราย เผย!
หากเป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมดึงเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ สกัดยอดเอ็นพีแอลพุ่ง ย้ำ! เตรียมวงเงิน 7 หมื่นล้านบาท รอให้เกษตรกรรุ่นใหม่กู้เงินผ่านแคมเปญ สินเชื่อ New Gen Hug (ฮัก) บ้านเกิด และสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ ได้จนถึง มิ.ย.64
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีเกษตร ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน และสหกรณ์ภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบาก โดยธนาคารฯจะเสนอต่อคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เพื่อพิจารณาการขยายเวลาพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2563
ปัจจุบัน ธนาคารฯมีลูกค้าเอสเอ็มอีและเอสเอ็มอีเกษตรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ราว 5แสนราย รวมหนี้ 2 แสนล้านบาท ซึ่งขยายเวลาการพักชำระหนี้ในครั้งนี้ จะไม่ใช่การพักหนี้แบบอัตโนมัติ แต่จะสำรวจข้อมูลก่อนว่า เอสเอ็มอีทั้ง 2 กลุ่ม มีรายใดที่มีปัญหาทางการเงินหรือขาดความสามารถด้านการชำระหนี้บ้าง ซึ่งเมื่อพักหนี้ให้แล้ว หากรายใดมีความเสี่ยงว่าจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ธนาคารฯจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีเหล่านี้ กลายเป็นหนี้หนี้ที่ก่อไม่ให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)
ทั้งนี้ ธนาคารฯมีเอ็นพีแอล ราว 4.07% คิดเป็นวงเงิน 6.1 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยไม่ห่วงว่าหนี้เสียจะเป็นเท่าใด เนื่องจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลอยู่ และที่ผ่านมาธนาคารฯดูแลและช่วยเหลือลูกค้ามาโดยมาตลอด ทั้งลูกค้าที่มีสถานะปกติและลูกค้าที่อาจจะเป็นหนี้เสียในอนาคตด้วย
“ยังไม่ประเมินไม่ได้ว่าเอ็นพีแอลในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเท่าใด แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้กันเงินสำรองหนี้สูญไว้แล้ว 3 แสนล้านบาท ส่วนหากจะต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอีในกลุ่มที่ยืดชำระหนี้เพิ่มเติม ธ.ก.ส.จำเป็นต้องสำรองเงินเพิ่มขึ้นด้วย เพราะถือว่าธนาคารฯต้องแบกรับความเสี่ยงในส่วนนี้” นายอภิรมย์ ระบุ
ส่วน โครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” เพื่อค้นหาทายาทเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย เชื่อมั่นในวิถีเกษตรสร้างสรรค์ เข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยนำเสนอรูปแบบรายการเรียลลิตี้ สร้างแนวคิด แรงบันดาลใจ ที่ได้เปิดรับเข้าร่วมโครงการก่อนหน้านี้ ล่าสุด พบว่ามีผู้สนใจลงทะเบียนทั้งหมด 21,000 ราย มีผู้ผ่านเข้ารอบ 16,000 ราย และในจำนวนนี้ ธนาคารฯได้คัดเหลือผู้สมัครเหลือเพียง 104 รายเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ในการเข้าค่ายเพื่อพัฒนาต่อยอดไอเดียต่างๆ สู่การขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นจริง โดยรายการจะออกอากาศในเดือนก.ย.63 สถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31
สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ตกรอบไปแล้ว สามารถยื่นความประสงค์เพื่อขอใช้สินเชื่อสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ธนาคารฯได้จัดเตรียมวงเงินไว้ 7 หมื่นล้านบาท ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารฯ ได้ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อ New Gen Hug (ฮัก) บ้านเกิด วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการประกออบอาชีพ โดยผู้กู้ ต้องเป็นเกษตรกร ทายาทเกษตรกร บุคคลในครัวเรือนเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ย แบ่งเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เดือนที่ 1-3 อัตรา 0% ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดตามอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ(MRR) และเพื่อเป็นค่าลงทุน ปีที่ 1-3 อัตรา 4% ต่อปี ปีที่ 4เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยตาม MRR ซึ่งปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.5% ต่อปี กู้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63-30 มิ.ย.2564
และ 2.สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ รายละ 50,000 บาท วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1-3 จำนวน 0% ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดตามอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ(MRR) กู้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63-30 มิ.ย.2564.