สภาพัฒน์ถกไม่จบ! กดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจหงอย
โป๊ะแตก! คณะกรรมการกลั่นกรองฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ยังเอ็กซ์เรย์ไม่จบ! ทำให้ยอดเบิกจ่ายเงินก้อนนี้ จากกระทรวงการคลัง มีแค่ 2.9 แสนบาท แถมแผนกู้เงินก้อน 6 แสนล้านบาทในโครงการเยียวยาฯ กู้ได้แค่ครึ่งเดียว ยกยอดไปกู้ต่อปีหน้า
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงการใช้จ่ายเงินตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ของโครงการ/แผนงานการใช้จ่ายเงินที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเสนอมา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พ.ศ.2563 (มี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นประธานฯ) จึงทำให้การใช้จ่ายเงินในส่วนนี้ มีน้อยมากเพียง 290,000 บาทเศษเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง โดย สบน.ได้เตรียมการกู้ยืมเงินฯรองรับการใช้จ่ายตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไว้แล้ว ซึ่งการออกพันธบัตรรัฐบาล (เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน) 3 หมื่นล้านบาทในครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งเงินกู้ตามมาตรการดังกล่าวเช่นกัน
สำหรับการเบิกจ่ายในส่วนของมาตรการเยียวยาฯนั้น ขณะนี้ มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 2.97 แสนล้านบาท ครอบคลุมการเยียวยาประชาชน 15.17 ล้านราย คิดเป็นเงิน 1.7 แสนล้านบาท และเยียวยาเกษตรกรอีกกว่า 7.46 ล้านราย วงเงินกว่า 1.14 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการเยียวยาคนในกลุ่มเปราะบาง 20,019 ล้านบาท หรือ 98% ของวงเงินเต็ม 20,345 ล้านบาท เยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3,493 ล้านบาท และจ่ายชดเชยรายได้ให้กับลูกจ้าง 897 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการจ่ายชดเชยรายได้ให้กับลูกจ้างนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินแต่อย่างใด
นายแพตริเซีย ยังกล่าวถึงการกู้ยืมเงินในส่วนที่นำไปใช้จ่ายเพื่อการเยียวยา ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ตามแผนเดิม รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังวางแผนจะกู้ยืมเงินในส่วนนี้ราว 6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ สามารถกู้ยืมเงินได้เพียง 3 แสนล้านบาท คาดว่าการกู้ยืมเงินในช่วงปีงบประมาณ 2563 นั้น คงไม่ถึงวงเงินตามแผนงานเดิมที่ 6 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลสามารถจะขยายเวลาการกู้ยืมเงินในส่วนนี้ไปในปีงบประมาณหน้าได้ โดยไม่กระทบกับแผนงานข้างต้นแต่อย่างใด.