เกษตรกร อ่วม! ยกเลิก โรงไฟฟ้าชุมชน
8 วิสาหกิจชุมชน ยื่นหนังสือเรียกร้อง เดินหน้า โรงไฟฟ้าชุมชน หวั่น เกษตรกรเสียประโยชน์ หากยกเลิกโครงการ เพราะเตรียมพืชพลังงานรองรับไว้แล้ว
เมื่อ 23 ก.ค.63 เวลา 13.30 น. ประธานวิสาหกิจชุมชน 8 แห่ง จาก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายอดิศักดิ์ ชูสุข หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน ในฐานะตัวแทนของนายวิษณุ เครืองาม ( ผู้รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ) ที่อาคาร ENCO เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก(Energy for all) อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากเห็นว่า โครงการนี้ มีประโยชน์อย่างแท้จริง และ จับต้องได้ สำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ ผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ,เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน , ผู้ดำเนินการตัดและนำส่งพืชพลังงานถึงโรงไฟฟ้า , กองทุนหมู่บ้าน และ วิสาหกิจชุมชน ที่จะได้รับจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าในโครงการฯ อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพางบประมาณจากราชการเลย ซึ่งประเมินขั้นต่ำราว 120 ล้านบาทสำหรับโครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ ในช่วงระยะเวลาสัญญาขายไฟ 20 ปี (หรือ 500,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี)
นางนฤชล พฤกษา ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนสร้างอาชีพตลาดไทร จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า อำเภอชุมพวง เป็นอำเภอที่ค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ก็ยังประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง และทำไร่อ้อย ขาดทุนจากการประกอบอาชีพซ้ำซาก มีความหวังที่จะมีรายได้เพิ่มจากการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อจำหน่ายแก่โรงไฟฟ้าชุมชน มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 290 คน และได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองคู่ อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่อยู่ใกล้เคียง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกหญ้า และ ร่วมกันส่งหญ้าเพื่อสร้างมั่นใจกับโรงไฟฟ้าที่จะมาตั้งในอนาคต
ด้านนายธนพงศ์ เนื่องนา ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ ตำบลหนองบัวบัว จังหวัดบุรีรัมย์ บอกว่า อยากให้รัฐมนตรีคนใหม่สานต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ไม่อยากให้เกิดความล่าช้า หรือ ยกเลิก เปลี่ยนแปลง เพราะหากยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง จะเสียประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ในวิสาหกิจชุมชนของเราร่วมกลุ่มกัน 290 ชุมชน เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเข้าร่วมโครงการ พี่น้องเกษตรกร ก็เกิดความวิตกกังวล เป็นอย่างมาก หากถ้าโครงการนี้ถูกยกเลิกไป
ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ ภูมิศรีแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี บอกว่าทางชุมชนบ้านเชียง มีการแบ่งและควบคุมพื้นที่ของชุมชนบ้านเชียงออกเป็น 3 วง เพื่อรักษามรดกโลกไว้อย่างหวงแหน ก็ยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยจับสรรพื้นที่รอบนอกในการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า และนำรายได้จากส่วนแบ่งมาช่วยรักษามรดกโลกไว้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ในฐานะประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก ( ปม. )บอกว่า การเดินทางมายื่นหนังสื่อในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือ สนับสนุน ว่าที่ รมว.พลังงานคนไหน เพียงแต่มีความต้องการจะให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ ดำเนินการต่อไปตามแผนที่ รมว.พลังงานคนที่แล้วได้วางไว้ เพราะเชื่อว่าการมีหุ้นส่วนในโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นโอกาสอย่างยิ่งในการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น