ธสน.ขาดทุนครึ่งปีแรก เหตุเข้มใช้ TFRS9
EXIM BANK (ธสน.) คาดครึ่งปีหลังมีสัญญาณฟื้นตัว แม้ส่งออกทั้งปีจะหดตัวแรงสุดถึง -10% ขณะที่จีดีพีทั้งปีติดลบ 6-8% คลอด 3 ผลิตภัณฑ์ ทั้งประกันส่งออกและสินเชื่อ อุ้มลูกค้ากลุ่มที่โดนแบงก์พาณิชย์ปฏิเสธ มั่นใจดันยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2-3% เผย! กำไรครึ่งแรกของปีนี้ติดลบ “ขาดทุนกว่า 1.4 พันล้านบาท” เหตุเป็นแบงก์รัฐแรก ที่นำระบบกันสำรองตามเกณฑ์ TFRS9 มาใช้อย่างเข้มงวด
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กก.ผจก. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) หรือ EXIM BANK กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2563 ธนาคารฯได้เตรียม 3 ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออก ขนาดเล็กและกลาง เพื่อให้สามารถปรับตัวรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและต่างประเทศได้ ประกอบด้วย 1.บริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม (EXIM for Small Biz) รายได้ปีละไม่เกิน 100 ล้านบาท จ้างงานไม่เกิน 50 คน ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก ไม่เคยใช้บริการประกันการส่งออก และมีแผนจะส่งออกมูลค่าไม่สูงนัก สามารถขออนุมัติวงเงินผู้ซื้อกับธนาคารฯ ตั้งแต่ 1-5 แสนบาท วงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อรายผู้เอาประกัน
2.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนธุรกิจขนาดกลาง (EXIM Amazing M Credit) เป็นทุนหมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินสูงสุด 80 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี และ 3.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมไทยเก่ง (EXIM Star Credit) เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ส่งออกเอสเอ็มอีใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, กลุ่มอาหาร คือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และ กลุ่มเครื่องสำอาง คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติปรุงแต่งดูแลร่างกาย วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 4.75% ต่อปี ลดอัตราอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4.00% กรณีส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV
“วงเงินที่จะใช้กับทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์มีไม่สูงมากนัก เพราะจะเน้นที่จำนวนความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการให้มากที่สุด เนื่องจากคนกลุ่มนี้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากธนาคารพาณิชย์มากนัก แต่ก็เป็นภารกิจของธนาคารฯที่จะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ซึ่งบางรายในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต การช่วยเหลือของธนาคารฯ พูดได้ว่าเป็นการ “เลี้ยงต้อย” รอวันที่พวกเขาเติบโต ซึ่งขณะนี้ ยอดการส่งออกของสินค้าในกลุ่มนี้ถือว่ามีอนาคตที่สดใส เพราะมีจุดเด่นที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยลดต้นทุนสินค้า และเพิ่มผลิตผลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สร้างกำไรต่อหน่วยได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ตัว น่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มยอดสินเชื่อทั้งปีเพิ่มขึ้ราว 2-3%” นายพิศิษฐ์ ระบุ พร้อมคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังว่า
เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบไทยยังต้องปรับตัว ทั้งเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งการผิดนัดชำระค่าสินค้าของผู้ซื้อและความผันผวนของค่าเงิน รวมถึงยังต้องรับมือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19, สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้
สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก พบว่า ธนาคารฯมีสินเชื่อคงค้าง 126,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,317 ล้านบาท หรือ 18.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แยกเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 35,665 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 90,836 ล้านบาท ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวก่อให้เกิดปริมาณธุรกิจ 85,834 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี 29,227 ล้านบาท หรือ 34.05% โดยมีปริมาณด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุน 90,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
กก.ผจก. EXIM BANK ย้ำว่า ธนาคารฯ มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและสำรองอื่นเท่ากับ 1,163 ล้านบาท แต่เมื่อต้องกันสำรองตามเกณฑ์ TFRS9 อย่างเข้มงวด 2,908 ล้านบาท โดยเป็นสถานบันการเงินของรัฐแห่งแรกที่ดำเนินการภายใต้กติกาใหม่นี้ เมื่อรวมกับการกันสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตอีกและสำรองอื่นอีก 2,579 ล้านบาท ทำให้ธนาคารฯตั้งสำรองรวมกันมากถึง 5,487 ล้านบาท เป็นผลให้เกิดการขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรก 1,416 ล้านบาท และแม้ธนาคารฯไม่ต้องนำส่งรายได้เข้าคลัง เพราะการดำเนินงานมีผลขาดทุน แต่ก็ทำให้การประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารฯต่ำลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯพร้อมจะติดตามให้ความช่วยเหลือ และควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio) ณ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เท่ากับ 6.37% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 4.60%
“วิกฤตโควิดฯ ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งสำคัญว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต้องพัฒนาและยกระดับห่วงโซ่อุปทานการผลิตครั้งใหญ่ให้สอดรับกับภาวะนิวนอร์มอล ทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงใส่ใจความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังต้องเร่งพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเกิดขึ้นทั่วโลก” นายพิศิษฐ์
สำหรับตัวเลขคาดการณ์สำคัญๆ นั้น ผู้บริหาร EXIM BANK ประเมินว่า จีดีพีในปี 2563 น่าจะอยู่ในช่วง -6 ถึง -8% ขณะที่การส่งออกน่าจะปรับตัวลดลงในระดับ -8 ถึง -10%.