ยกทัพครู-อาจารย์ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา
ยกทัพครู-อาจารย์ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ปลูกป่าในใจคนแก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน พร้อมถ่ายทอดนวัตกรรมการเรียนรู้สู่เยาวชนรุ่นใหม่
ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กองทัพภาคที่ 1 มูลนิธิประเทศไทย ใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 30 คน ร่วมเรียนรู้ต้นแบบแนวคิด “ขาดทุนคือกำไร” กับวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ของคนในชุมชนอำเภอกุยบุรี กับกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา โครงการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน ปลูกป่าในใจคน” พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้กับเยาวชนต่อไป โดยได้รับเกียรติจากพลโทธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้การต้อนรับ
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึง โครงการ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” ว่า “ศูนย์คุณธรรม ได้จัดทำหนังสือโครงการตามรอยพระราชาที่ คัดสรรแล้วจำนวน 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้คณะครูอาจารย์ ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา ลงมือทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้ และต่อยอด พร้อมสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา นอกจากนั้น ยังเป็นการสำนึกรู้ในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยทุกคน จนก่อเกิดเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ชาวบ้านนำมาปฏิบัติตามจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น และตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม ‘ตามรอยพระราชา’ อย่างต่อเนื่องในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ และสอดคล้องกับปณิธานของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนของสังคมไทยในทุกมิติ” โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้พาคณะครูอาจารย์กว่า 30 สถาบัน เดินทางสู่อ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นต้นแบบของ
แนวคิด “ขาดทุนคือกำไร” ของประชาชนอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำคณะปล่อยพันธุ์ปลาจำนวน 9,999 ตัว ถวายเป็นพระราชกุศลในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วย พระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ต่อด้วยกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นโดยการนำสัปปะรด มาแปรรูปเป็นกระดาษใบสับปะรด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ปี 2559 เป็นหนึ่งสินค้านวัตวิถีที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สมาชิกบ้านรวมไทย หมู่บ้านต้นแบบด้านการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจานจากสับปะรด ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ จากใบสับปะรด ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่าไม่มีค่า จึงถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตร ก่อนจะถูกนำมาเพิ่มมูลค่าจนกลายเป็นสินค้า OTOP ของชุมชนในปัจจุบันและถ่ายทอดสู่คณะครูอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการตามรอยพระราชาในครั้งนี้
กิจกรรมไฮไลท์ของโครงการตามรอยพระราชาในครั้งนี้ คือการศึกษาศาสตร์ของพระราชา แก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน ปลูกป่าในใจคนกับทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งคณะครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อยังความชุ่มชื้นคืนธรรมชาติและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าทั้งปวง ตามพระราชดำรัสคนกับช้างว่า “ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ในป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำ ณ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ ให้ผืนป่าแห่งนี้มีความชุ่มชื้น และชะลอการไหลของน้ำ ให้ไหลช้าลง ลดการสูญเสียส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ดังแนวคิดการพื้นฟูผืนป่า ตามแนวพระราชดำริ ในการจัดการฟื้นฟูผืนป่าโดยการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า และสืบสาน ต่อยอด ตามรอยพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยถึงรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
สำหรับกิจกรรมถอดบทเรียนหลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้วนั้น จะนำโดยนายอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “The Medici Effect 9” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
ปิดท้ายด้วยการมอบหนังสือมรดกแห่งแผ่นดิน จากโครงการปันความรู้สู่สังคมให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านย่านซื่อ และโรงเรียนบ้านรวมไทย และกิจกรรมมอบถุงยังชีพ กองบุญ “ธรรมดีด้วยใจ ต้านภัยโควิด” มอบให้ชาวบ้าน จำนวน 15 หมู่บ้าน 600 ครอบครัว ได้แก่ หมู่บ้านรวมไทย หมู่บ้านพุบอน หมู่บ้านย่านซื่อ ตำรวจตะเวนชายแดน อุทยานกุยบุรี กรมป่าไม้ โครงการพระราชดำริ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อยและอำเภอสามร้อยยอด โดยมีเป้าหมายทั้งหมด จำนวน 5,000 ครอบครัว ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ
กิจกรรมตามรอยพระราชา ได้จัดมาแล้วรวม 7 ครั้ง ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม 2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 3.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี 4. เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ จังหวัดนครนายก 5.โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี 6.มหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ และ7.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ หน่วยงาน หรือองค์กรใดที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชาสามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดีhttp://www.do-d-foundation.com /Fanpage Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official:@dfoundation