พาราไดส์ เปเปอร์ส : เผยแอปเปิลเลี่ยงภาษี
บริษัทที่มีผลกำไรมากที่สุดในโลกอย่างแอปเปิลมีโครงสร้างใหม่ที่เป็นความลับ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีนับพันล้านดอลลาร์ได้อย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากพาราไดส์ เปเปอร์ส
โดยจากข้อมูลเผยให้เห็นว่า แอปเปิลหลบฉากจากกรณีอื้อฉาวเรื่องการตั้งบริษัทในไอร์แลนด์เพื่อเลี่ยงภาษีในปี 2556 ไปเป็นการตั้งบริษัทในสถานที่ที่ไม่ต้องเสียภาษีหลายแห่ง โดยการโยกย้ายบริษัทโฮลดิงส่วนใหญ่ที่ตั้งในต่างประเทศซึ่งถือเงินสดที่ไม่เสียภาษีมูลค่าราว 252,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 8.39 ล้านล้านบาทไปที่เกาะเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่เกาะแชนแนลไอส์แลนด์ในช่องแคบอังกฤษ
แต่แอปเปิลชี้แจงว่า โครงสร้างใหม่ไม่ได้ทำให้อัตราภาษีที่บริษัทต้องจ่ายลดลงแต่อย่างใด โดยยืนยันว่าบริษัทยังคงเป็นผู้จ่ายภาษีมากที่สุดในโลก คือจ่ายภาษีนิติบุคคลสูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.16 ล้านล้านบาทใน 3 ปีที่ผ่านมา บริษัททำตามกฏหมายและการเปลี่ยนโครงสร้าง “ไม่ได้ลดการจ่ายภาษีของเราในประเทศใด”
โดยในแถลงการณ์ บริษัทย้ำว่า ไม่มีการดำเนินการหรือการลงทุนใดที่ย้ายออกไปจากประเทศไอร์แลนด์
ทั้งนี้ พาราไดส์ เปเปอร์สเป็นชื่อของเอกสารการเงินที่รั่วไหลครั้งมโหฬาร ซึ่งเปิดเผยถึงโลกการเงินของคนดังทั่วโลกที่ซุกซ่อนในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษี
ที่ผ่านมาจนถึงปี 2557 แอปเปิลใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายในสหรัฐฯและไอร์แลนด์ที่เรียกกันว่า
‘ดับเบิล ไอริช‘ ซึ่งทำให้บริษัทแยกยอดขายนอกสหรัฐฯ (ประมาณ 55% ของรายได้ทั้งหมด) ผ่านบริษัทย่อยไร้สัญชาติในไอร์แลนด์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการหลบเลี่ยงภาษี
แทนที่จะต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในไอร์แลนด์ในอัตรา 12.5% หรือ 35% ในสหรัฐฯ โครงสร้างบริษัทที่ซับซ้อนของแอปเปิลช่วยให้บริษัทจ่ายภาษีเพียง 5% หรือในบางปีลดลงต่ำกว่า 2% โดยคณะกรรมาธิการยุโรปประเมินว่า อัตราภาษีของบริษัทแห่งหนึ่งของแอปเปิลในไอร์แลนด์จ่ายภาษีต่อปีน้อยมากคือแค่ 0.005% เท่านั้น
ซึ่งทำให้ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลถูกกดดันให้ไปชี้แจงเรื่องภาษีกับวุฒิสภาของสหรัฐฯในปี 2556 โดยส.ว.คาร์ล เลวินไม่พอใจมากและกล่าวกับเขาว่า“คุณย้ายเอาห่านทองคำไปไอร์แลนด์ คุณย้ายไปที่ 3 บริษัทที่ไม่จ่ายภาษีในไอร์แลนด์ นี่เป็นเพชรยอดมงกุฎของแอปเปิล คุณทำไม่ถูกต้อง”
หลังจากถูกสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐบาลไอร์แลนด์ตัดสินใจยกเลิกไม่ให้มีการจัดตั้งบริษัทไร้สัญชาติเพื่อผลประโยชน์ทางด้านภาษีอีก บริษัทจึงจำเป็นต้องหาสถานที่อื่นแทน ในเดือนมี.ค.2557 ที่ปรึกษากฎหมายของแอปเปิลถามไปที่บริษัทแอปเปิลบี ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายชั้นนำที่รับจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศ และเป็นแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ในพาราไดส์ เปเปอร์สที่รั่วไหลครั้งนี้ โดยบริษัทขอคำปรึกษาว่าควรจะจดทะเบียนบริษัทที่ใดจึงจะดีที่สุดในเรื่องผลประโยชน์ และทางแอปเปิลบีก็ได้เสนอทั้งเกาะบริติช เวอร์จิ้น ไอส์แลนด์, เบอร์มิวดา, เกาะเคย์แมน, มอริเชียส, เกาะเจอร์ซีย์ให้กับบริษัท
จากอีเมลที่รั่วออกมาชี้ให้เห็นว่า แอปเปิลต้องการเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ในที่สุด บริษัทก็เลือกเกาะเจอร์ซีย์ ซึ่งตั้งอยู่ในช่องแคบอังกฤษ โดยตามกฎหมายของที่นั่น อัตราภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องจ่ายคือ 0%
จากบัญชีในปี 2560 ของบริษัทชี้ว่า บริษัทมีรายได้ 44,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดต่างประเทศ และจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลต่างชาติเพียง 1,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในอัตราประมาณ 3.7% ซึ่งน้อยกว่า 1 ใน 6 ของอัตราภาษีนิติบุคคลเฉลี่ยในโลก
ทั้งนี้ แอปเปิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการย้ายบริษัทย่อยไปที่เกาะเจอร์ซีย์ โดยชี้แจงว่า “เมื่อไอร์แลนด์แก้กฎหมายภาษีในปี 2558 เราปฏิบัติตามโดยเปลี่ยนแปลงบริษัทสาขาย่อยในไอร์แลนด์ แต่ได้แจ้งกับไอร์แลนด์ คณะกรรมาธิการยุโรปและสหรัฐฯ แล้ว การเปลี่ยนแปลงของเราไม่ได้ลดจำนวนการจ่ายภาษีของเราในประเทศใดที่จริงแล้ว เราจ่ายให้ไอร์แลนด์เพิ่มขึ้นมาก และใน 3 ปีล่าสุด เราจ่ายภาษีไปถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ที่นั่น”