เศรษฐกิจสิงคโปร์ถดถอย
สิงคโปร์ – เศรษฐกิจสิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอยในทางเทคนิค หลังจากตัวเลขจีดีพีหดตัวลงถึง 41.2% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยตัวเลขถูกฉุดลงจากดีมานด์ต่างประเทศและมาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมโควิด -19
มาตรการคุมเข้มเพื่อชะลอการระบาดของโควิด-19 นานหลายเดือนและการปิดสถานที่ทำงานสั่นคลอนภาคส่วนก่อสร้าง ค้าปลีกและท่องเที่ยวของสิงคโปร์ โดยมีสัญญาณเล็กน้อยว่าความเจ็บปวดบรรเทาลง
ทางการคาดการณ์ว่าจีดีพีของสิงคโปร์จะหดตัวลง 4 – 7% ในปีนี้ โดยการระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลร้ายแรงกับเศรษฐกิจ
เมื่อเทียบกันไตรมาสต่อไตรมาสบนตัวเลขพื้นฐานรายปี จีดีพีสิงคโปร์หดตัวลงถึง 41.2% ในไตรมาสเดือนเม.ย.- มิ.ย. ซ้ำเติมตัวเลขการหดตัว 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ จากการประเมินล่วงหน้าของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งหมายความว่า สิงคโปร์ได้เข้าสู่ภาะถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่ามีการหดตัวลงสองไตรมาสต่อเนื่อง ขณะที่โพลของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะหดตัวลง 37.4%
โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลานี้ของปีก่อน เศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัวลง 12.6% จากไตรมาสแรกที่ปรับลดลง 0.3%
ภาคก่อสร้างได้รับผลกระทบมากที่สุดในไตรมาส 2 โดยหดตัวลงถึง 54.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังจากไตรมาสแรกลดลง 1.1% และเมื่อเทียบกันไตรมาสต่อไตรมาส ภาคก่อสร้างดิ่งลงถึง 95.6%
มาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ทำให้กิจกรรมก่อสร้างส่วนใหญ่หยุดชะงัก และมาตรการอื่นๆ เช่น การคุมเข้มการเดินทางที่หอพักแรงงานข้ามชาติเป็นอุปสรรคกีดขวางกำลังแรงงาน
ขณะที่ภาคบริการหดตัวลง 13.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากตัวเลขที่ลดลง 2.4% ในไตรมาสแรก และเมื่อเปรียบเทียบบนพื้นฐานตามไตรมาส ภาคบริการดิ่งร่วงลง 37.7%
MTI ระบุว่า การควบคุมการเดินทางทั่วโลกและในประเทศส่งผลกระทบร้ายแรงกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขณะที่การค้าส่งได้รับผลกระทบจากดีมานด์ภายนอกที่ดิ่งลง
ขณะเดียวกัน ภาคบริการอาหาร ค้าปลีก และบริการธุรกิจก็ได้รับผลกระทบชัดเจนจากมาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์
ภาคการผลิตเป็นภาคส่วนเดียวที่ยังมีการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยมีการขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้จะชะลอตัวลงจากการเติบโต 8.2% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่จากพื้นฐานต่อไตรมาส ภาคการผลิตหดตัวลง 23.1%
การประเมินจีดีพีล่วงหน้าเป็นการประมวลผลจากข้อมูลในสองเดือนแรกของไตรมาส ในกรณีนี้ เดือนเม.ย.และพ.ค. ซึ่งเป็นสองเดือนที่มีการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นชั่วคราว จากมาตการเซอร์กิตเบรคเกอร์ที่ตั้งเป้าควบคุมการระบาดของโควิด-19
สิงคโปร์ยกเลิกมาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ในวันที่ 1 มิ.ย. และเริ่มเปิดธุรกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเข้าสู่เฟส 2 ของการเปิดธุรกิจในวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งให้ร้านค้าปลีกเปิดได้ และร้านอาหารให้ลูกค้ารับประทานอาหารที่ร้านได้ โดยมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ดิ่งร่วง รัฐบาลประกาศ 4 มาตรการสนับสนุนที่มีมูลค่าเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ 20% ของจีดีพี
โดยมาตรการต่างๆยังรวมถึงการให้ค่าจ้างสนับสนุนนายจ้างที่ได้รับผลกระทบ และจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ใหญ่ชาวสิงคโปร์