บริษัทญี่ปุ่นฉาว ปลอมข้อมูลอีก
บริษัทย่อยของบริษัทโทเร ซึ่งเป็นผู้ผลิตใยสังเคราะห์ของญี่ปุ่นออกมายอมรับว่า มีการปลอมแปลงข้อมูลผลิตภัณฑ์จริงในช่วงเวลาที่ผ่านมา
นับเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายล่าสุด จากข่าวฉาวที่มีมาอย่างต่อเนื่องเรื่องการปลอมแปลงข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยบริษัทโทเร ไฮบริด คอร์ดได้มีการตกแต่งข้อมูลการทดสอบคุณภาพก่อนที่จะส่งผลิตภัณฑ์ไปให้กับลูกค้า 13 บริษัท ซึ่งมีทั้งผู้ผลิตยางและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้หุ้นของบริษัทโทเรดิ่งลง 8% จากข่าวฉาวก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมาเล็กน้อย
ทั้งนี้ โทเรเป็นบริษัทของญี่ปุ่นรายล่าสุดที่ออกมาแถลงข่าวยอมรับว่า มีการปลอมแปลงข้อมูลเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์
เมื่อเดือนต.ค. บริษัทโกเบสตีล บริษัทผู้ผลิตโลหะรายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่นยอมรับว่า บริษัทมีการตกแต่งข้อมูลความแข็งแกร่งทนทานและคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ส่งไปยังลูกค้านับร้อยบริษัท
ขณะที่บริษัทนิสสันเรียกคืนรถยนต์มากถึง 1.2 ล้านคันหลังจากยอมรับในเดือนต.ค.ในเวลาต่อมาว่า ให้พนักงานที่ไม่มีใบอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบรถยนต์ในขั้นตอนสุดท้าย โดยเป็นรถที่ผลิตเพื่อขายในตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ บริษัทซูบารุเองก็เรียกคืนรถยนต์เกือบ 400,000 คันด้วยเหตุผลเดียวกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทมิตซูบิชิ แมททีเรียลออกมาแถลงยอมรับเช่นกันว่า บริษัทย่อยมีการปลอมแปลงข้อมูลผลิตภัณฑ์
ในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายอากิฮิโร นิกคากุ ประธานบริษัทโทเรกล่าวขอโทษพร้อมกับโค้งคำนับ ซึ่งเป็นท่าปกติที่บริษัทญี่ปุ่นมักจะใช้ในการแถลงข่าวหลังจากบริษัทได้รับผลกระทบจากข่าวฉาว
“เราขออภัยอย่างสุดซึ้งสำหรับปัญหาและความกังวลทั้งหมด” เขาระบุ
เขายอมรับว่า บริษัทโทเร ไฮบริด คอร์ด พบว่า มีถึง 149 กรณีที่มีการปลอมข้อมูลผลิตภัณฑ์จากปี 2551 – 2559 แต่ระบุว่า ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือกระทำผิดกฎหมาย
โดยเขากล่าวในการแถลงการณ์ว่า โทเรตัดสินใจที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ ด้วยการยอมรับว่า บริษัทมีข่าวฉาวเหมือนกับโกเบสตีล และหลังจากมีข่าวรั่วทางออนไลน์
“เราไม่ได้มีแผนที่จะเปิดเผยเรื่องนี้” เขากล่าว
บริษัทกล่าวว่า การปลอมแปลงข้อมูลเกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของบริษัทย่อย และไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทแต่อย่างใด
ทั้งนี้ โทเรเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโบอิ้ง และบริษัทฟาสต์รีเทลลิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง ‘ ยูนิโคล่ ’
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบริษัทใดได้รับผลกระทบจาการปลอมแปลงข้อมูล.