ยูนิเซฟเตือนมลพิษทำลายสมองเด็ก
เด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีประมาณ 17 ล้านคนหายใจเอาอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษเข้าไป ทำให้การพัฒนาสมองของเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกทำลาย หรือเติบโตได้ไม่เต็มที่ องค์การยูนิเซฟเตือน
โดยเด็กทารกในเอเชียใต้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เนื่องจากมีจำนวนเด็กๆ มากกว่า 12 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีปริมาณมลพิษสะสมในอากาศสูงกว่าระดับที่ปลอดภัยถึง 6 เท่า
ขณะที่เด็กอีก 4 ล้านคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
รายงานของยูนิเซฟระบุว่า การได้รับอากาศที่มีมลพิษในปริมาณมากมีความเชื่อมโยงกับระดับสติปัญญาด้านภาษาและไม่ใช่ด้านภาษา ลดคะแนนการทดสอบ คะแนนเฉลี่ยในวัยเรียน รวมถึงปัญหาพฤติกรรมที่เกิดจากระบบประสาทอื่นๆ โดยผลกระทบนี้จะอยู่ไปตลอดชีวิต
“ จากพื้นที่ในเมืองที่มีมากขึ้นในโลก ปราศจากการปกป้องและมาตรการลดมลพิษที่เพียงพอ เด็กจำนวนมากขึ้นจะมีความเสี่ยงในอีกหลายปีข้างหน้า ” ยูนิเซฟระบุ
โดยยูนิเซฟได้เรียกร้องให้มีการใช้หน้ากากป้องกันมลพิษให้มากขึ้น และติดตั้งระบบฟอกอากาศ และสำหรับเด็กๆ ไม่ควรเดินทางในช่วงที่มีปริมาณมลพิษหนาแน่น
ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีหมอกหนาทึบปกคลุมท้องฟ้ากรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย โดยปริมาณมลพิษสูงจน Arvind Kejriwal มุขมนตรีของเมืองเรียกเมืองว่าเป็น ‘ห้องรมแก๊ส’
หลายโรงเรียนในเมืองต้องปิด แต่เมื่อเปิดเรียนอีกครั้ง ก็ถูกผู้ปกครองกล่าวหาว่า ทางการละเลยและไม่ตระหนักถึงสุขภาพของเด็กๆ
นักกีฬาคริกเก็ตของทีมอินเดียและศรีลังกาที่เล่นอยู่ในกรุงนิวเดลีมีอาการอาเจียนในระหว่างการเล่น เนื่องจากปริมาณมลพิษสะสมในอากาศที่สูงมาก
ทางตอนเหนือของอินเดีย มีการประเมินว่ามลพิษในอากาศบั่นทอนทำให้อายุของประชากรสั้นลงประมาณ 3 ปี และรัฐบาลบังคับใช้มาตรการการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นกับบริษัท ถึงแม้สื่อของรัฐจะรายงานด้วยท่าทีเสียดสีว่า หลายบริษัทไม่เคารพกฎหมายและไม่ปฏิบัติตามเป็นเรื่องปกติ
ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปเพื่อใช้สำหรับเก็บข้อมูล เผยให้เห็นว่า ประเด็นมลพิษนี้กำลังลุกลามใหญ่โตในหลายเมืองในแอฟริกาเช่นกัน ยูนิเซฟรายงาน
ขณะที่ผลการศึกษาที่แยกเป็นเอกเทศจากนักวิทยาศาสตร์ที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนพบว่า หลายเมืองที่มีปริมาณมลพิษสูงในสหราชอาณาจักรมีผลทำให้น้ำหนักเด็กทารกแรกเกิดในเมืองนั้นๆ ลดต่ำลง ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงทำให้ทารกเสียชีวิต หรืออาจเป็นโรคร้ายไปตลอดชีวิตได้.