บริษัทญี่ปุ่นคุมเข้มคุณภาพหลังข่าวฉาว
จากผลกระทบของข่าวฉาวด้านการปลอมแปลงข้อมูลการควบคุมคุณภาพสินค้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกือบครึ่งของบริษัทญี่ปุ่นมีการควบคุมตรวจสอบระบบภายในบริษัทอย่างเข้มงวดมากขึ้น หรือมีแผนจะทำเช่นนั้น อ้างอิงจากผลสำรวจของสื่อรอยเตอร์
เฉพาะในปีนี้เพียงปีเดียว มีข่าวอื้อฉาวทั้งจากบริษัทโกเบสตีล บริษัทมิตซูบิชิ แมททีเรียล และบริษัทโทเร อินดัสตรีส์ ซึ่งทั้งหมดเป็นซัพพลายเออร์สำคัญที่ส่งสินค้าไปยังผู้ผลิตทั่วโลก โดยทั้งสามบริษัทยอมรับว่ามีการตกแต่งข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้สูงกว่าความเป็นจริง
นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์นิสสันและซูบารุก็ออกมายอมรับเช่นกันว่า ให้พนักงานที่ไม่มีใบอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมทำหน้าที่ตรวจสอบรถยนต์ในขั้นตอนสุดท้ายสำหรับรถยนต์ที่ขายในตลาดญี่ปุ่นมานานหลายปี
โดยผลการสำรวจของรอยเตอร์ ที่จัดทำขึ้นในวันที่ 21 พ.ย. – 4 ธ.ค. แสดงให้เห็นว่า 9 ใน 10 ของบริษัทญี่ปุ่นระบุว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากข่าวฉาวที่มีต่อชื่อเสียงของประเทศที่เคยเป็นเลิศด้านการผลิต 28% จากทั้งหมดกล่าวว่าพวกเขารู้สึกกังวลมาก ขณะที่ 61% ระบุว่าพวกเขากังวลอย่างที่สุด
“ ความเชื่อถือในชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่นสำหรับการผลิตคุณภาพสูงที่ถูกเขย่าอย่างรุนแรงเป็นปัญหาใหญ่ และจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ” ผู้จัดการบริษัทก่อสร้างรายหนึ่งระบุในผลสำรวจ
เพื่อเป็นการรับมือกับข่าวฉาว 44% จากบริษัททั้งหมด และ 48% ของบริษัทผู้ผลิตกล่าวว่า พวกเขามีการควบคุมคุณภาพที่เคร่งครัดมากขึ้น หรือมีแผนจะทำเช่นนั้น หลายบริษัทกล่าวว่า พวกเขามีการฝึกอบรมที่เข้มงวดขึ้นและให้ความใส่ใจมากขึ้นกับรายละเอียดของสัญญาที่ทำกับลูกค้า
ขณะที่อีกหลายบริษัทระบุว่า ได้ทบทวนกฎระเบียบภายในบริษัทและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินค้ามากขึ้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งตอบว่า เพ่งเล็งการตรวจสอบสเปกสินค้ามากขึ้น
ที่ผ่านมา บริษัทโกเบสตีลกล่าวโทษแรงกดดันที่จะเพิ่มผลกำไรว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข่าวฉาว ขณะที่นิสสันโทษว่าการขาดแคลนแรงงานคือสาเหตุ
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเปลี่ยนจากผู้ผลิตญี่ปุ่นมาเป็นแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวทำให้มาตรฐานลดต่ำลงและเพิ่มแนวโน้มให้เกิดการกระทำผิดและอุบัติเหตุมากขึ้น
“ การลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในโรงงานถึงขีดจำกัดแล้ว แต่ผู้บริหารกลับไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้เลย ” ผู้จัดการของบริษัทเคมีภัณฑ์ซึ่งเข้าร่วมในการสำรวจให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นทุกบริษัทที่มีข่าวฉาวในปีนี้ยืนยันว่า การกระทำความผิดของพวกเขาไม่ส่งผลกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของบริษัท
ทั้งนี้ การสำรวจเพื่อรอยเตอร์โดยนิกเคอิ รีเสิร์ช ทำการสำรวจจาก 547 บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งให้คำตอบโดยไม่เปิดเผยชื่อบริษัท ประมาณ 240 บริษัทตอบคำถามจากข้อมูลข่าวฉาวในปัจจุบัน.