ปตท. แจงปัจจัยฉุดกำไรปี 61 ลดลง
ปตท. เผยผลประกอบการปี 61 มีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11 เนื่องจากต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นพร้อมเตรียมงบ 264,226 ล้านบาท ลงทุนใน EEC
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561 ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 3.7 โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจยูโรโซนและจีน ความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าปีก่อน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4 ปี 2561 ส่งผลให้ในปี 2561 ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ทั้งในส่วนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันมีผลประกอบการที่ลดลง สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟินส์ก็มีผลการดำเนินงานลดลงตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2561 แม้ว่าปริมาณขายโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ยังอยู่ในระดับสูง
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ทำให้กำไรของ ปตท. ลดลงจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจน้ำมัน ในขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครบวงเงินแล้ว
อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น กลับมีปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้ผลประกอบการดีขึ้น โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากราคาและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั้งในส่วนที่ ปตท. ดำเนินการเองและดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่ม และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีผลการดำเนินงานดีขึ้นทั้งจากกำไรขั้นต้นต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
จากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินงานของ ปตท. ปี 2561 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1.4 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 59,160 ล้านบาท และเมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ส่งผลให้ ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.3 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17) และมีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11) คิดเป็นกำไร 4.15 บาทต่อหุ้น ซึ่งคณะกรรมการ ปตท.ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2.00 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 36,258 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครืออีกประมาณ 45,962 ล้านบาท รวมเป็นรายได้นำส่งรัฐจากกลุ่ม ปตท. สำหรับผลประกอบการปี 2561 รวมประมาณ 82,220 ล้านบาท
ทั้งนี้ กำไรของ ปตท. ภายหลังการจ่ายเงินปันผลให้แก่รัฐและผู้ถือหุ้น จะนำไปลงทุนเพิ่มเติมในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคม ตามแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่ม ปตท. เน้น 3 ด้านหลัก (3P) ได้แก่ People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Prosperity การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับ แผนลงทุน 5 ปี ระหว่างปี 2562 – 2566 จำนวน 167,114 ล้านบาท ประกอบด้วย ลงทุนของบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% 66,525 ล้านบาท บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) 34,680 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 27,527 ล้านบาท สำนักงานใหญ่และอื่นๆ 15,695 ล้านบาท ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 10,908 ล้านบาท ,ธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย 11,779 ล้านบาท
นอกจากนั้น กลุ่ม ปตท.ยังเตรียมงบ 264,226 ล้านบาท ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรวมถึงโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ได้แก่ โครงการ EECi ลงทุน 4,100 ล้านบาท, ท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 มูลค่า 17,000 ล้านบาท, การขายท่อส่งก๊าซฯไปยังพื้นที่ EECi, คลัง LNG, การขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์, โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) วงเงิน 128,743 ล้านบาท, การสร้างโรงงานพาราไซลีนของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC), โครงการ Utra Clean Fuel Project เพื่อรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro V ของ IRPC ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 63-66
ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ยังไม่ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมประมูล เนื่องจากยังมีความเสี่ยงในบางเรื่องทั้งในส่วนของพันธมิตรที่ยังไม่ชัดเจน และจะต้องพิจารณาให้ได้จะสามารถจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้หรือไม่.