จับตา “นิรโทษกรรม 2020”
หลัง “บิ๊กตู่” ส่งสัญญาณ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ต่างขานรับปรองดอง และคาดหวังนิรโทษกรรม
กระแสปรองดอง นิรโทษกรรม หวนกลับมาอีกครั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณ ประกาศเจตนารมณ์ “รวมไทยสร้างชาติ” พร้อมจับมือทุกภาคส่วนเดินหน้าประเทศ ก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
แม้ “บิ๊กตู่” จะปฏิเสธว่าไม่ได้หมายถึง “นิรโทษกรรม” ทางการเมือง ทว่านักการเมืองมากหน้าหลายตา ต่างตีความว่า ปี 2020 นิรโทษกรรมมาแน่ เพราะรัฐบาลหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยความปรองดองไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลเอง ก็เจอปัญหาหลายด้านจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็น การชุมนุมของนักศึกษา ประชาชนขาดความเชื่อมั่น เป็นต้น
สัญญาณแห่งความปรองดอง นิรโทษกรรม ชัดขึ้นเมื่อพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ฯลฯ ต่างตอบรับว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าปรองดองเสียที
ทางพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมมวลชน ไม่รวมแกนนำ ผู้ต้องหาคดีทุจริตและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะการสร้างความปรองดองของคนในชาติ คือหัวใจของการสร้างชาติ สร้างแผ่นดิน ทั้งนี้ ผู้นำประเทศควรน้อมนำคุณธรรมทางศาสนามาใช้ในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยคุณธรรมทางศาสนาที่สำคัญนั้น คือ อภัยและเมตตา เพื่อให้อภัยและเมตตาแก่บุคคลที่ต้องคดีการเมือง และคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า แสดงความเห็นถึงการสร้างความปรองดองว่า ตอนนี้เราต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน เปิดพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ประชาชน
ส่วนการปรองดอง ประเทศไทยมีแผนจำนวนมากแล้ว ควรเริ่มปฏิบัติเสียที นับแต่ปี 2549 มาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการนำแผนเกี่ยวกับการปรองดองมาใช้เลย มีเพียงการจัดทำแผนจากคณะกรรมการต่างๆหลายคณะ วันนี้ถ้าไม่มีการปรองดอง อาจเกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ เพราะนับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา จะเห็นว่าทุกๆกว่า 20 ปี จะเกิดเหตุการณ์ใหญ่เสมอมา
ด้านอดีตคู่ขัดแย้งอย่าง นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่า การจะนิรโทษกรรมครั้งนี้ ต้องไม่ใช่เพื่อแกนนำ แต่ต้องเป็นไปเพื่อสลายมวลชน เหมือนกับสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นการปรองดองของมวลชนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ปรองดองกับแกนนำ เพื่อที่มวลชนจะได้เลิกทะเลาะกัน เพราะแกนนำหลายฝ่ายนั้น รับโทษจากการต้องคดีไม่น้อยไปกว่ากันมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็น พ.ร.บ. เพราะอนาคตถ้าความเกลียดชังยังดำรงอยู่ ก็จะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนผู้ได้รับผลกระทบอย่าง นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือเกด พยาบาลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช.ปี 2553 กล่าวว่า การปรองดองควรเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะบริบทสังคมในตอนนี้เปลี่ยนไปจากอดีตมาก หากเสนอสภาไปโดยไม่ฟังความเห็นรอบด้าน เชื่อว่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน สำหรับการนิรโทษกรรม หากยกโทษเจ้าหน้าที่รัฐ คงเป็นไปได้ยาก เพราะบางครั้งเจ้าหน้ารัฐผู้รับคำสั่งนั้น ทำเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ขอเสนอว่า ควรทำประชาพิจารณ์ในการนิรโทษกรรมด้วย
สำหรับประเทศไทย เคยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2555 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ภายหลังมีการลักไก่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ส่งผลให้เกิดการชุมนุมของ กปปส. แล้วนำซึ่งการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
จับตา นิรโทษกรรม 2020 ว่าจะสำเร็จหรือไม่.