จี้ รสก.เร่งลงทุนครึ่งปีหลัง – สั่งเลิกลงทุนโครงการล่าช้า
จ่อเรียก “บิ๊กรัฐวิสาหกิจ” เจ้าของโครงการลงทุนล่าช้า เข้าชี้แจงเหตุผลสัปดาห์หน้า ด้าน “รองฯสมคิด” จี้ สคร. เร่งรัดโครงการลงทุนรัฐวิสาหกิจช่วงครึ่งหลังปี’63 ย้ำ! ใครล่าช้า ยกเลิกลงทุนทันที แล้วหาโครงการใหม่เสียบแทน สั่งบีโอไอหนุนโครงการด้านสังคมมากขึ้น เผย! พิษโควิด-19 ทำแผนลงทุนพีพีพีชะลอกว่า 4 แสนล้านบาท ยืนยันภาพรวม 44 รัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายงบลงทุน 8 เดือนแรก ทะลุเป้ากว่า 1.04 แสนล้าน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เมื่อช่วงสายวานนี้ (26 มิ.ย.) ที่กระทรวงการคลัง มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง คณะกรรมการพีพีพี และผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดย รองนายกฯสมคิด ระบุว่า นับแต่เกิดไวรัสโควิด-19 ทำให้โครงการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเกือบทุกโครงการต้องชะลอออกไป 6- 10 เดือน จึงสั่งให้ สคร.ไปกำชับรัฐวิสาหกิจ เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนของตนเอง ช้าไปบ้างไม่เป็นไรแต่ไม่ควรปล่อยให้ล่าช้าเป็นปี และต้องให้เหตุผลได้ว่าการลงทุนล่าช้าเพราะอะไร โดยหากโครงการใดล่าช้าแบบไม่มีสาเหตุก็ยกเลิกไปเลย และให้หน่วยงานนั้นเสนอโครงการใหม่เข้ามาทดแทน
“รัฐบาลอยากเห็นโครงการร่วมลงทุนไม่เฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน แต่ให้มองไปถึงการลงทุนในโครงการด้านสังคม ด้านภาคบริการการแพทย์ การศึกษา สาธารณสุข รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรรมด้วย ที่ผ่านมาเอกชนยังเข้าร่วมค่อนข้างน้อย เพราะแรงจูงใจไม่เพียงพอ จึงให้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูมาตรการจูงใจเพิ่มเติม และให้ สคร. เร่งทำประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ภาคเอกชนรับรู้และเข้าร่วมโครงการเหล่านี้” นายสมคิด ระบุ
ด้าน นายอุตตม กล่าวว่า ความล่าช้าในโครงการลงทุนพีพีพี เกิดจากปัญหาโควิด-19 ไม่ได้มาจากปัญหาเกียร์ว่างของหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ จึงมอบหมายให้ สคร.เชิญผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในโครงการสำคัญ มาหารือร่วมกันถึงการเดินหน้าโครงการที่ล่าช้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขณะนี้ จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในประเทศและการบริโภคภายในประเทศ ทดแทนการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจและปัญหาโควิดฯ
ขณะที่ นายประภาศ คงเอียด ผอ.สคร. ระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการพีพีพี 90 โครงการ มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาทจำนวนนี้เป็นโครงการร่วมลงทุนที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน 18 โครงการ วงเงิน 472,050 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้มีมากถึง 10 โครงการที่ดำเนินการล่าช้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นัดประชุมไม่ได้ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมหลายแสนล้านบาท ทั้งนี้ สคร.จะพิจารณาว่าแต่ละหน่วยงาน ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้หรือไม่ ถ้าใครดำเนินการไม่ได้ตามแผน จะเรียกผู้บริหารเจ้าของโครงการมาร่วมชี้แจงในสัปดาห์หน้า
สำหรับ การประชุมคณะกรรมการพีพีพีในครั้งนี้ ที่ประชุมฯเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง ภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการเสนอโครงการครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในอนาคต
นอกจากนี้ สคร.ยังได้ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ซึ่งภาพรวมรัฐวิสาหกิจยังสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 104,214 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม รวมทั้งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
น.ส.ปิยวรรณ ล่ามกิจจา รอง ผอ.สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวถึงผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ว่า แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง รวม 61,140 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 8 เดือน (ต.ค.2562 – พ.ค.2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง รวม 43,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 114 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 5 เดือน (ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. 2563) โดยมี โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และงานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบท่อส่งน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ – รังสิต (รถไฟชานเมืองสายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการล่าช้าต่อเนื่องมา
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนบางโครงการที่ต้องใช้บุคลากรและการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ รวมทั้งผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องปรับปรุงแผน การลงทุนให้สอดคล้องกับความเหมาะสมในการลงทุนและผลการดำเนินงานจริง อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่าย งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการนำงานที่สามารถเบิกจ่ายได้มาทดแทนผลกระทบเหล่านี้ เช่น เงินเบิกจ่ายล่วงหน้าให้กับผู้รับจ้างหรือค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19” ผอ. สคร. สรุปปิดท้าย.