สวิสเป็นสุดยอดประเทศเศรษฐกิจนวัตกรรม
หลายประเทศในยุโรปเข้ามาโดดเด่นในการจัดอันดับประเทศที่มีเศรษฐกิจนวัตกรรมมากที่สุดในโลก แต่จีนไต่ระดับขึ้นมามากที่สุด
อ้างอิงจากผลการศึกษาร่วมของมหาวิทยาลัยคอร์แนล, Insead และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
โดยสวิตเซอร์แลนด์ยังคงรั้งตำแหน่งอันดับ 1 ของประเทศที่มีเศรษฐกิจนวัตกรรมสูงสุด ตามมาในอันดับ 2 คือสวีเดน และสหราชอาณาจักรเป็นอันดับ 3 ในดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ประจำปีนี้
สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 4 ฟินแลนด์เป็นที่ 5 และสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 6 โดยจีนเป็นประเทศรายได้ปานกลางประเทศแรกที่เบียดเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 25 ของ GII ได้ ซึ่งที่ผ่านมามักจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่
GII เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ตลาด ความซับซ้อนทางธุรกิจ ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ และการทำวิจัย
การรักษาระดับนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซาและการผลิตนำไปสู่การค้นหาแรงขับเคลื่อนใหม่ของประเทศ อ้างอิงจากรายงาน
นายฟรานซิส เกอร์รี ผู้อำนวยการทั่วไปของ WIPO กล่าวว่า “การลงทุนในนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว”
“ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน นวัตกรรมทั่วโลกช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเป็นการใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุน” เขากล่าว
การศึกษาในปีนี้พบว่านวัตกรรมทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นจากกระแสความรู้และพรสวรรค์ข้ามพรมแดนที่เพิ่มขึ้น
“การหดตัวที่เกี่ยวเนื่องกับกระแสไหลเวียนของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นกลยุทธ์สำคัญของนวัตกรรมทั่วโลกใน 2 ด้านคือ ในด้านหนึ่ง มีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้นที่กำลังกลายเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น และในอีกด้านหนึ่ง มีความร่วมมือทางนวัตกรรมที่ก้าวข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้น” นายบรูโน ลาวิน กรรมการผู้อำนวยการในดัชนีทั่วโลกที่สถาบัน Insead กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเส้นแบ่งทางนวัตกรรมระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อ้างอิงจากรายงาน
ก่อนปี 2552 การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เติบโตประมาณ 7%ต่อปี แต่ในปี 2557 การใช้จ่ายในด้าน R&D กลับมีการขยายตัวเพียง 4% เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีนชะลอการลงทุน และรัฐบาลในประเทศเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงได้ตัดลดการใช้จ่ายงบประมาณลง อ้างอิงจากรายงาน
ทั้งนี้ รายงาน GII ทำการศึกษาจาก 128 ประเทศ ซึ่งเป็นภาพรวมที่คิดเป็น 92.8% ของประชากรทั่วโลกและ 97.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลก.