“อุตตม”หนุนท่องเที่ยวปลุกเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการท่องเที่ยว “กำลังใจ – เที่ยวปันสุข – เราไปเที่ยวกัน” ช่วง ก.ค. – ต.ค. อัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.2 หมื่นล้านบาท ด้าน “อุตตม” เชื่อท่องเที่ยวกันเองในไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังได้แน่ เผย! อาจได้เห็น “แพกเกิจภาษี” เสริมการท่องเที่ยวอีกแรง เชื่อ! บอร์ดกลั่นกรองฯเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ภายใต้สภาพัฒน์ “ชี้นำ-ไม่โปร่งใส” ไม่ได้ ย้ำ! ต้องเป็นกลาง
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงการคัดกรองโครงการที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ จัดทำและเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ที่มี เลขาธิการสภาพัฒฯเป็นประธานฯ เพื่อขอรับเงินตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และยังไม่มีโครงการใดผ่านการพิจารณา ซึ่งหากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาแล้วเสร็จ จะเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะอยู่ในความดูแลของสภาพัฒน์ แต่ก็มีหน่วยงานอื่นๆ ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ คอยพิจารณาและคัดกรองด้วยความเหมาะสม ไม่สามารถที่ใคร หรือหน่วยงานใดจะทำการชี้นำ หรือพิจารณาด้วยความไม่โปร่งใสได้
ส่วนกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเที่ยวปันสุข ที่กระทรวงการคลังและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอมา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 มิ.ย.นั้น เชื่อว่า จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาส 3 และ 4 และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐไทย เนื่องจากคงหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงนี้คงไม่ได้ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ถือเป็นมาตรการหลักของรัฐบาลทุกประเทศดำเนินการในช่วงนี้
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งเสริมทั้งผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้มีรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยเงินเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในรายละเอียดนั้น เชื่อว่า ททท.จะเร่งดำเนินการออกมาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สำหรับการนำมาตรการทางภาษีมาส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น ขณะนี้ ตนยังตอบไม่ได้ต้องรอสถานการณ์ข้างหน้าอีกที ทั้งนี้ หากต้องนำมาตรภาษีมาใช้ อาจเป็นไปในลักษณะ “แพจเกจ” เพราะต้องการให้การท่องเที่ยวได้มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่
1. โครงการ กำลังใจ รัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1,200,000 คน ให้เดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งรัฐจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท/คน สำหรับการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน
2. โครงการ เที่ยวปันสุข รัฐบาลสนับสนุนการเดินทางของประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 คน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ สายการบินในประเทศไทย รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่าในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท
3. โครงการ เราไปเที่ยวกัน รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) จำนวน 5,000,000 คืน ในอัตราร้อยละ 40 ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการและ ททท. จะแจ้งรายชื่อแก่ธนาคารกรุงไทย จำนวน 600 บาทต่อห้องต่อคืน โดยจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองที่พัก
โดยระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือน ก.ค. – ต.ค. 2563 งบประมาณ 22,400 ล้านบาท โดยแบ่งงบประมาณเป็น โครงการกำลังใจ 2,400 ล้านบาท โครงการเราไปเที่ยวกัน 18,000 ล้านบาท และโครงการเที่ยวปันสุข 2,000 ล้านบาท สำหรับวิธีการลงทะเบียนนั้น คาดว่าประชาชนจะต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์ในรูปแบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน คล้ายกับโครงการชิมช้อปใช้ หรือโครงการการท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งต้องรอการยืนยันรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนลงทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง.