บอร์ดEEC ผ่อนปรน นักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้าไทย
บอร์ดEEC เห็นชอบ แนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี พร้อมเร่งพัฒนาการเกษตร ยกระดับ 5 คลัสเตอร์ เพิ่มรายได้เกษตรกร
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เปิดเผยหลัง การประชุมกบอ. ครั้งที่ 3 ที่มี นายอุตตม สาวนายน รวม.คลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบอ. รับทราบแนวทาง แนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ตามที่กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี จากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (Japanese Chamber of Commerce : JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิค เข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนในระยะต่างๆ ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี ในช่วงระยะการฟื้นตัวของประเทศ สกพอ. จึงมีแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ สร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทาง กับสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly)
รวมทั้งหารือกับกระทรวงสาธารณสุข พิจารณากำหนดประเทศต้นทาง และจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศในแต่ละช่วงเวลา การกำหนดมาตรการกักกัน Flexible Alternative Quarantine ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศสามารถทำภารกิจที่จำเป็นได้ และร่วมกันพิจารณาขึ้นทะเบียน สถานกักตัวทางเลือก Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่ อีอีซี ที่บุคลากรในโรงพยาบาลเอกชนสามารถสื่อสารภาษากับประเทศต้นทางได้ เพื่ออำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น
และรับทราบ การดำเนินการช่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา โดย สำนักงานทรัพยากร น้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน สกพอ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ได้ร่วมกันรองรับด้วยมาตรการเร่งด่วน 8 โครงการ ร่วมกับ 4 มาตรการเสริม อาทิ
เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง โดยสูบผันน้ำจากท่อผันน้ำอ่างประแสร์- คลองใหญ่ เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง โดยปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด จ.จันทบุรี เติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และขอความร่วมมือลดใช้น้ำจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 10 % ซึ่งช่วยให้พื้นที่อีอีซี ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งได้ด้วยดี
โดยแนวนโยบายต่อไป รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้มอบนโยบาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ และรองรับภัยแล้งในปีต่อๆ ไป ได้แก่ วางแผนและบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอในฤดูแล้งหน้าปี 2563/2564 เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ และสูบกลับน้ำเพื่อเก็บน้ำให้มากที่สุด ภาคอุตสาหกรรมควรมีแหล่งน้ำของตนเอง ดำเนินการด้าน 3Rs และ CSR ต่อสังคม โครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ ต้องมีแหล่งน้ำสำรอง และผลักดันการทำประปาหมู่บ้านไม่พึ่งแหล่งน้ำจากน้ำฝน
ซึ่งมอบหมายให้ สทนช. ติดตามและเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทุก ภาคส่วน เพื่อทำให้พื้นที่อีอีซี เกิดความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคอย่างยั่งยืน
รวมทั้งรับทราบความก้าวหน้าโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ อีอีซี โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Power Supply : SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้ กฟภ. รับซื้อ และส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ และอัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ. ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น ๆ
นอกจากนั้นยัง รับทราบ การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี ได้แก่ 1.ใช้ความต้องการนำการผลิตความต้องการในประเทศ: รองรับมหานครการบินภาคตะวันออก เมืองใหม่ และการท่องเที่ยว ,ความต้องการในต่างประเทศ: สำรวจตลาดหาความต้องการเอเชีย CLMV และยุโรป ที่มีความต้องการสูง,สร้างความต้องการด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่
2. ยกระดับการตลาด-การแปรรูป-การเกษตร ด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน สร้างตลาดด้วยกลไก E-Commerce E-Auction ขายไปทั่วโลก ,เชื่อมระบบโลจิสติกส์ ตั้งแต่ส่งออก-ขายในประเทศ-จนถึงการรวมสินค้าระดับฟาร์ม ให้สะดวกระดับสากล,แปรรูปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ได้สินค้าคุณภาพมาตรฐานระดับโลก,เก็บรักษาผลไม้ อาหารทะเล ด้วยระบบห้องเย็น,ปรับกระบวนการในฟาร์มให้ผลิตสินค้าตรงกับตลาด ,สร้างงานวิจัยเชิงด้านเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงตรงกับความต้องการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ หีบห่อ การแปรรูป การปลูก การควบคุมความเสี่ยงจากภูมิอากาศ,จัดกลุ่มเกษตรกร จัดทำโซนนิ่ง เพื่อสะดวกในการเสริมสร้างความรู้ใหม่ การตลาด-การผลิต-การเงิน
3. ให้ความสำคัญกับ 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน ทำได้ทันที อาทิ ผลไม้ – พืช Bio-Based3 – ประมง – สมุนไพร – พืชมูลค่าสูง (เช่น ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ)
พร้อมได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ. เป็นเลขานุการร่วม