ขนส่งเอกชนซบคลัง วอนช่วยก่อนปิดตัว-เลิกจ้างงาน
ขนส่งภาคเอกชนมึนท่าทีเฉยเมินของคมนาคม หันซบคลัง หวังของบอุดหนุน 1 หมื่นล้านบาท ผ่านความช่วยเหลือ 3 ระยะ สกัดไม่ให้ 3 แสนธุรกิจขนส่งทางบกขนาดเล็กล้มหาย กระทบการจ้างงาน 5-6 ล้านคน ที่อาจต้องตกงานตามกันไป ด้านสมาพันธ์การขนส่งทางบกฯ ขอคลังลดหักภาษี ณ ที่จ่ายลงกึ่งหนึ่ง คาดเอกชนจะมีเงินหมุนเวียนกว่า 1 พันล้านบาท
กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางบก ภายใต้การนำของสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เดินทางเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 10 มิ.ย.2563 ที่กระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 1 ชม. นายอุตตม กล่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมีนโยบายในการดูแลทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางบกที่มีรวมกันทั่วประเทศ 3 แสนราย และมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการขนส่งในทุกระดับมากถึง 5-6 ล้านคน จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือ แบ่งความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่จะต้องดูแลเรื่องสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ โดยจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ผ่านสมาพันธ์การขนส่งฯไปยังผู้ประกอบการทั่วประเทศว่า ยังมีเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านทางธนาคารพาณิชย์อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากวงเงินรวม 5 แสนล้านบาทนั้น เพิ่งใช้ไปเพียงแค่ 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จึงอยากให้ภาคเอกชนไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากช่องทาง อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังกำลังเร่งพัฒนามาตรการเสริมช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่
ระยะที่ 2 เป็นช่วงของการการฟื้นฟู ซึ่งจะต้องยกระดับโครงสร้างการดำเนินงานให้กับธุรกิจขนส่ง ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯบรรเทาลง เนื่องจากจะมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย จำต้องจะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ เพราะธุรกิจโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมมุ่งหวังที่มีอนาคตสดใส (S-Curve) ของไทย โดยในช่วงเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ จะได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการความช่วยเหลือออกมาอีกที ซึ่งจะมีทั้งมาตรการการเงินและมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน
ส่วนระยะที่ 3 เป็นเรื่องของการนำระบบ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” มาช่วยจัดการระบบการขนส่งทางบก โดยเฉพาะการจัดการด้านข้อมูล ซึ่งตรงกับที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้หารือกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ดูแลด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรงอยู่แล้ว พร้อมกับประสานความช่วยเหลือด้านการเงินและรูปแบบการช่วยเหลือ รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
ด้าน ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ปธ.ที่ปรึกษา สมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งขนาดเล็กต่างได้รับผลกระทบอย่างมาก ที่ผ่านมาเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงการคมนาคม แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่ควรจะเป็น จึงเดินทางมาขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังใน 3 ระยะข้างต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการฯทั้งกลุ่มขนส่งสินค้าและขนส่งคน (รถโดยสาร) ทั่วประเทศ มีรถบรรทุกรวมกันมากถึง 1.4 ล้านคัน ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้ากัน
เฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มขนส่งสินค้าที่มี 3 แสนราย ได้รับผลกระทบร้อยละ 40 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มรถโดยสาร 4,000 ราย ได้รับผลกระทบถึงร้อยละ 60-70 ทั้งนี้ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างแน่นอน จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว ทั้งนี้ อยากให้ สสว.เข้ามาช่วยในการให้ผู้ประกอบการฯเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งอาจให้ผู้ประกอบการค้ำประกันเงินกู้กันเอง รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท
“พร้อมกันนี้อยากให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาลดการจัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย สำหรับธุรกิจขนส่งฯ จากเดิมที่จัดเก็บร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.5 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในภาวะปกติ ธุรกิจขนส่งจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนปีละ 2-3 แสนล้านบาท และเป็นเงินภาษี หัก ณ ที่จ่าย ราว 2-3 พันล้านบาท หากกระทรวงการคลังช่วยเหลือในส่วนนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการฯมีเงินหมุนเวียนมากถึงกว่า 1 พันล้านบาททีเดียว” ดร.ทองอยู่ ระบุและว่า หากนับรวมเม็ดเงินที่ภาคเอกชนต้องการจากการขอรับความช่วยเหลือทั้ง 3 ระยะจากภาครัฐแล้ว คาดว่าจะประเมินเป็นมูลค่ารวมกันราว 1 หมื่นล้านบาท และจะทำให้ผู้ประกอบขนส่งทางบกรายเล็กอยู่ได้โดยไม่ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างงาน.