เกษตรกรฯสนใจร่วมประกันข้าวนาปีฯแตะ 40 ล.ไร่
คปภ.เลือก “เมืองเพชรฯ” นำร่องประกันข้าวนาปีฯ-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2563 เผย! เกษตรกร “เด่งรับ” ร่วมโครงการฯแล้วเกือบ 40 ล้านไร่ จากพื้นที่เป้าหมาย 45.7 ล้านไร่ เหตุส่วนใหญ่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ถือฐานข้อมูลในมือเพียบ ด้าน “เลขาฯคปภ.” ห่วงสุด! กลุ่มเกษตรกรทั่วไป หวังเดินสายให้ความรู้ด้านประกันภัย ดึงให้รีบขึ้นทะเบียนเกษตรกร หรือผันตัวไปเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มั่นใจปีหน้าและต่อๆ ไป ทำงานได้ง่ายขึ้น
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) นำทีมผู้บริหาร คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยไทย รวมถึงสื่อมวลชน ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ค.2563 โดยหลังจากพบปะเกษตรกรในพื้นที่แล้ว วันรุ่งขึ้น ได้ประกาศ “นำร่อง” โครงการประกันภัยข้าวนาปี และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 ด้วยการเปิดโครงการ Training for the Trainer สร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
โดยปีนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายประกันภัยข้าวนาปีฯเพิ่มขึ้นเป็น 45.7 ล้านไร่ วงเงินสนับสนุน 2,910.39 ล้านบาท และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ 3 ล้านไร่ วงเงิน 313.98ล้านบาท นายสุทธิพล ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โครงการฯเกิดความล่าช้า และต้องลดจำนวนการลงพื้นที่ให้ความรู้เหลือเพียง 5 ครั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการข้างต้น เนื่องจากพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการประกันข้าวนาปีฯนั้น มีเกือบ 40 ล้านไร่ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการฯ
ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีฐานข้อมูลในส่วนที่เป็นลูกค้าสินเชื่ออยู่ก่อนแล้ว จึงสามารถดำเนินการได้เร็ว ขณะเดียวกันในปีนี้ รัฐบาล และ ธ.ก.ส.เพิ่มเงินอุดหนุนในส่วนความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) แก่เกษตรกรทุกคน ทั้งที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.และทั่วไป โดยรัฐบาลอุดหนุน 58 บาท/ไร่ และ ธ.ก.ส.อุดหนุนอีก 39 บาท/ไร่ จึงทำให้เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินค่าประกันภัยแต่อย่างใด แต่หากต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม จะจ่ายเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยง (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่ง จ.เพชรบุรี ถือเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (สีเขียว) และรัฐบาลจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย 58 บาท/ไร่ ให้ทั้งหมด ส่วนเบี้ยประกันภัยความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) เกษตรกรจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยง โดยเสี่ยงต่ำ จ่ายฯ 24 บาท/ไร่ เสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) 48 บาท/ไร่ และเสี่ยงสูง (สีแดง) 101 บาท/ไร่
ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีฯ จะให้ความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอาการหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า โดยความคุ้มครองพื้นฐานอยู่ที่ 1,260 บาท/ไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม 240 บาท/ไร่ ขณะที่ความคุ้มครองส่วนเพิ่มอยู่ที่ 120 บาท/ไร่ และภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด ตามความคุ้มครองพื้นฐาน และความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 630 บาท/ไร่ และ 120 บาท/ไร่ ตามลำดับ ดังนั้น เกษตรกรที่ประกันภัยส่วนที่ 1 และ 2 จะได้รับความคุ้มครอง 1,500 บาท/ไร่ และได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดอีก 750 บาท/ไร่
ส่วนการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ กำหนดให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.และเกษตรกรทั่วไป ได้รับความคุ้มครองตามกฎของจำนวนมาก (Law of Large Numbers) เหมือนปีก่อน แต่ได้รับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานส่วนที่ 1 และ 2 ให้สอดคล้องกับข้อมูลสถิติความเสียหายมากขึ้น โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานส่วนที่ 1 ที่ 160 บาท/ไร่ รัฐบาลอุดหนุน 96 บาท/ไร่ และ ธ.ก.ส.อุดหนุนอีก 64 บาท/ไร่ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินแต่อย่างใด ส่วนการซื้อประกันภัยเพิ่ม คิดค่าเบี้ยประกันภัย 160 บาท/ไร่ และ ธ.ก.ส.อุดหนุนอีก 64 บาท/ไร่ เช่นกัน ทั้งนี้ สามารถซื้อความคุ้มครองส่วนเพิ่ม โดยจ่ายเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูก โดยพื้นที่เสี่ยงต่ำ เบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ เสี่ยงปานกลาง 100 บาท/ไร่ และเสี่ยงสูง 110 บาท/ไร่ โดยมีความคุ้มครองพื้นฐานที่ 1,500 บาท/ไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม 240 บาท/ไร่ สำหรับภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาดให้ความคุ้มครองพื้นฐานที่ 750 บาท/ไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม 120 บาท/ไร่ ซึ่งเกษตรกรที่ทำประกันภัยในคราวเดียวกัน จะได้รับความครองอยู่ที่ 1,740 บาท/ไร่ ความคุ้มครองจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาท/ไร่
“ในส่วนที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ไม่น่าค่อยน่าเป็นห่วง เพราะมีระบบข้อมูลและวิธีการจัดการที่สะดวกรวดเร็ว แต่ที่ยังเป็นกังวลคือเกษตรกรทั่วไป จำเป็นจะต้องเร่งให้ความรู้ด้านการประกันภัยให้มากที่สุด เพื่อเร่งให้ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร หรือเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานปีต่อๆ ไป ทำได้สะดวกและเร็วขึ้น” นายสุทธิพล ย้ำและว่า ในส่วนของ จ.เพชรบุรี ที่ถูกประกาศนำร่องไปแล้วนั้น เชื่อว่าจำนวนเกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวนาปีฯและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีโอกาสจะครบ 100% เช่นที่ ผจก.เพชรบุรี (นายกอบชัย บุณอรณะ) คาดหวังเอาไว้
เลขาธิการ คปภ. ยังกล่าวเชิญเกษตรกรนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยง เพื่อแบ่งเบาภาระที่อาจได้รับความเสี่ยงจากภัยต่างๆ โดยเกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สามารถทำประกันภัยข้าวนาปีได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ส่วน 14 จังหวัดภาคใต้ สามารถทำประกันได้ถึง 31 ธ.ค.2563 ขณะที่ เกษตรกรผู้ปลูกข้างโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถทำประกันภัยฤดูแล้ง ได้ถึงวันที่ 15 ม.ค.2564 หรือหากต้องการข้อมูลเพิ่ม สอบถามได้ที่ แอปฯ “กูรูประกันข้าว” หรือสายด่วน คปภ. 1186.