กลุ่มศาสนาร่วมประท้วงจอร์จ ฟลอยด์ในสหรัฐฯ
วอชิงตัน (รอยเตอร์) – การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ทำให้บรรดาผู้นำและนักเคลื่อนไหวทางศาสนา รวมถึงกลุ่มนิกายทางศาสนาต่างๆ เข้าร่วมในการประท้วงทั่วสหรัฐฯ ทำให้หวนคิดถึงสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองเมื่อ 60 กว่าปีก่อน
บรรดาผู้นำทางศาสนาหัวอนุรักษ์นิยมและบรรดานักเคลื่อนไหวในกระแสหลักพากันเข้าร่วมในการประท้วงกับโบสถ์คนผิวสี โบสถ์คาธอลิก โบสถ์โปรแตสแตนท์หัวก้าวหน้าและธรรมศาลาของชาวยิว รวมถึงกลุ่มศรัทธาอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ และพยายามที่จะขจัดการเหยียดเชื้อชาติให้หมดไป
ฟลอย ชายผิวสีวัย 46 ปี เสียชีวิตจากการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจในมินนิอาโพลิสเมื่อวันที่ 25 พ.ค. โดยตำรวจที่ก่อเหตุถูกไล่ออกและถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวทั่วโลกผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่านั้น
“ เราเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด เราเห็นพระชาวยิวเดินขบวนไปพร้อมกับผู้นำมุสลิม เดินไปพร้อมกับบาทหลวงและแม่ชีคาธอลิก” จอห์นนี โซโควิตช์ ผอ.Pax Christi USA กลุ่มคาธอลิกเพื่อสันติและยุติธรรมแห่งชาติระบุ “ เราเห็นว่ามีการรวมทุกเชื้อชาติในบรรดาศาสนาทั้งหมด”
มีพระ นักบวช อิหม่าม และผู้นำศาสนากว่า 1,000 คนที่เข้าร่วมการประชุมออนไลน์เมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อช่วยกันระดมสมองเพื่อต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวอเมริกัน เชื้อสายแอฟริกัน
แรบบี โจนาห์ โดฟ เพสเนอร์ ผอ.Religious Action of Reform Judaism ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมระบุว่า นี่เป็นเหมือนการตอบรับจากกลุ่มศาสนาที่มีความลึกซึ้งแบบใหม่ โดยชี้ถึงความกระหายอย่างมากในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน หลังจากมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและล็อกดาวน์นานหลายเดือนจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
“ ผู้คนโกรธมาก โกรธเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ โกรธเรื่องการรับมือกับโควิด-19 โกรธการคลั่งศาสนา และเหยียดเชื้อชาติ การต่อต้านชาวยิวและการกลัวชาวมุสลิม และมองว่าคนผิวขาวเหนือกว่า ” เขากล่าว
โดยเขาระบุว่า กลุ่มศาสนาหัวก้าวหน้ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดความเคลื่อนไหว มากเท่ากับที่พวกเขาเคยทำในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง แต่การแสดงออกในวันนี้ดึงดูดกลุ่มที่มีความหลากหลายให้มาเข้าร่วมมากขึ้น
โดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2559 จากฐานเสียงที่แข็งแกร่งของกลุ่มคริสเตียนอิแวนเจลิสและคาธอลิก แต่การเสียชีวิตของฟลอยด์และการวิจารณ์การประท้วงของทรัมป์อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการโหวตออกเสียงในการเลือกตั้งเดือนพ.ย.ของสมาชิกกลุ่มศาสนาเหล่านี้
ขณะที่การเก็บภาษีจากส่วนกลางอาจทำให้กลุ่มศาสนาไม่แสดงจุดยืนเข้าข้างใคร แต่นักบวชสามารถแสดงความเห็นส่วนตัวได้
ทรัมป์ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้นำคาธอลิกและบรรดาพระสังฆราช หลังจากทรัมป์สั่งให้มีการยิงแก๊สน้ำตาสลายกลุุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเปิดทางให้เขาเดินจากทำเนียบขาวไปโบสถ์เซนต์จอห์นเพื่อไปถ่ายภาพได้เมื่อสัปดาห์ก่อน
แพต โรเบิร์ตสัน พระนักเทศน์โวยวายทรัมป์เมื่อสัปดาห์ก่อน เพราะทรัมป์ขู่จะส่งทหารเข้าปราบผู้ประท้วงหากผู้ว่าการรัฐต่างๆไม่ยอมควบคุมการประท้วงที่รุนแรง “ ห่วยมากที่พูดกับพวกเขาแบบนั้น ไม่ควรทำเลย ท่านประธานาธิบดี ไม่เท่เลย ! ”
โจเอล ออสตีน บาทหลวงอาวุโสจากโบสถ์ในเท็กซัส เดินขบวนไปกับผู้ประท้วงเมื่อสัปดาห์ก่อนในฮุสตัน โดยเขาระบุว่า “เราต้องการยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม และยืนเคียงข้างพี่น้องผิวสีของเรา”
บรรดาผู้นำศาสนากล่าวบทสรรเสริญออนไลน์ให้กับฟลอยด์และมีการเสวนาเรื่องความเชื่อและศาสนาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. และมีการสงบนิ่งเป็นเวลา 8.46 นาทีเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับฟลอยด์ และรำลึกถึงช่วงเวลาที่เขาถูกตำรวจกดคอและเขาวิงวอนตำรวจว่า “ได้โปรด ผมหายใจไม่ออก”
โดยการชุมนุมออนไลน์ในวันที่ 20 มิ.ย. ซึ่งมี 16 นิกายทางศาสนาเข้าร่วม จะเป็นการรื้อฟื้น “แคมเปญเพื่อคนยากไร้ ” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังการลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำสิทธิพลเมืองในปี 2511 โดยมีชื่อว่า “ A National Call for Moral Revival” และจะมุ่งเน้นที่ฟลอยด์ด้วย จากข้อมูลของผู้จัดงาน
“เราตกอยู่ในวิกฤตคุณธรรม ” วิลเลียม บาร์เบอร์ นักบวชจากโบสถ์ Greenleaf Christian ในนอร์ธแคโรไลนาระบุ โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้จัดงานคนสำคัญ “ ที่เราต้องทำในช่วงเวลานี้คือ ไม่เพียงต่อต้านกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับฟลอยด์เท่านั้น แต่กับการเหยียดผิวทั้งระบบ ความโหดร้ายของตำรวจ การขาดระบบดูแลสุขภาพ ความยากจนและลัทธิทหาร ”
Najuma Smith-Pollard นักบวชผิวสีและนักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนในลอสแองเจลิสระบุว่า การประท้วงได้ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือ นายกเทศมนตรีลอสแองเจลิสตัดงบประมาณของตำรวจ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเทงบไปให้กับงานดูแลเด็ก การดูแลสุขภาพ และการฟื้นฟูบาดแผลทางใจแทน
“ ไม่คิดว่าจะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น มีหลายอย่างเกิดขึ้นมาก และมีประชาชนเข้าร่วมมาก นี่ไม่ใช่เรื่องในท้องถิ่น มันเป็นระดับชาติ ระดับโลก” เธอกล่าว