พิษโควิดฯทำธุรกิจสินเชื่อพิโกฯใหม่วูบ
พิษโควิด-19 ฉุดธุรกิจพิโก้หดตัว เผยหน้าใหม่เพิ่มแค่ 5 ราย ด้านสินเชื่อวูบไปตามกัน เหตุจากปมเศรษฐกิจโลก/ไทย พ่วงปัญหาภัยแล้งและไวรัสระบาด ส่งผลให้ต้องคุมเข้มเงินกู้ ด้านหนี้เสีย ขยับเป็น 12.45% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสมที่ 2.75 พันล้านบาท ระบุ! 335 พิโก้ เข้าร่วมมาตรการรัฐ ช่วยลูกหนี้ซมพิษวิกฤติรอบนี้
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้รับความมือจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวม 335 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 222 ราย ภาคเหนือ 31 ราย ภาคตะวันออก 30 ราย ภาคกลาง 37 ราย และภาคใต้ 15 ราย โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมมาตรการแต่ละรายก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาของสัญญาเงินกู้ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดค่าผ่อนชำระรายงวด ไม่ติดตามทวงถามหนี้ หรือไม่คิดค่าปรับล่าช้าหรือค่าติดตามทวงถามหนี้แล้วแต่กรณี เป็นต้น
สำหรับการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ช่วงเดือนเมษายน 2563 ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของทั่วโลกที่ชะลอตัว ทำให้มีจำนวนผู้สนใจยื่นขออนุญาตฯ ทั้งกลุ่มพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสม 1,194 ราย เพิ่มขึ้นเพียง 5 รายจากเดือนมีนาคม โดยรายละเอียดความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนเมษายน 2563 สรุปได้ ดังนี้
สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มีนิติบุคคล ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวม 1,329 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (107 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 135 ราย ใน 52 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,194 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 880 ราย ใน 73 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 39 ราย)
ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 737 ราย ใน 71 จังหวัด โดยสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิ1,037 ราย ใน 75 จังหวัด ขณะที่ สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มี 157 ราย ใน 54 จังหวัด สำหรับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 248,423 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,589.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 26,525.68 บาทต่อบัญชี
โดยยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่กับลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยคำนึงถึงศักยภาพการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการหารายได้ของประชาชน นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการสินเชื่อรายอื่นๆ ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ (นาโนไฟแนนซ์) รายใหญ่ๆ ที่ขยายธุรกิจเพื่อเข้ามาเปิดบริการสินเชื่อในระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นที่นอกเหนือจากสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 108,815 บัญชี เป็นเงิน 2,752.94 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวม 13,850 บัญชี เป็นเงิน 357.87 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวม 12,478 บัญชี หรือ 342.80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.45 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้าง สะสมตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในภาพรวม โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีการเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายใหม่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ภาพรวมของยอดสินเชื่อคงค้างมีแนวโน้มลดลง
ด้านสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนถึงวันที่เสร็จสิ้นโครงการวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้กับประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบรวม 624,384 ราย คิดเป็นเงิน 27,366.17 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินการในภาพรวมของการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ได้กระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่อนุมัติสะสมทั้งหมดครอบคลุมประชาชนรายย่อยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.53 ภาคเหนือ ร้อยละ 19.80 ภาคกลาง ร้อยละ 15.72 ภาคใต้ ร้อยละ 14.23 และภาคตะวันออก ร้อยละ 3.72
โฆษก สศค. ยังถึงการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 มีทั้งสิ้น 5,479 คน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155 ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร 0 2575 3344.