คาดตลาดอสังหาฯฟื้นครึ่งหลังของปี2563
LPN Wisdom คาดตลาดอสังหาฯจะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2563 หลังสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย และกำลังซื้อเพื่อการอยู่อาศัยยังคงมีอยู่ในตลาด แต่สินค้าคงเหลือและโครงการใหม่ ใช้เวลาระบายกว่า3ปี
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทด้านการวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในประเทศไทยว่า มีแนวโน้มคลี่คลาย และคาดว่าจะสามารถปลดล็อกได้สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2563 ทำให้ LPN Wisdom คาดว่า ตลาดอสังหาฯจะค่อยๆฟื้นตัวในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ตามลำดับ โดยคาดว่า ผู้ประกอบการอสังหาฯจะทยอยเปิดตัวหลังจากที่ชะลอแผนเปิดตัวโครงการใหม่ในไตรมาส 2 ของปี 2563
โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2563 อยู่ที่ 50,000-55,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 175,000-190,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 50-55 ภายใต้เงื่อนไขไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง
“ ถึงแม้ภาพรวมตลาดจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่จำนวนสินค้าคงเหลือและโครงการเปิดใหม่ ยังคงมีมูลค่าสูง เฉพาะ 29 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีจำนวนสินค้าคงเหลือและโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา สิ้นไตรมาส1ปีนี้ สูงถึง 576,406 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.74 จากสิ้นปี 2562 ซึ่งต้องใช้เวลาในการขายไม่น้อยกว่า 3 ปี ทำให้แนวโน้มผู้ประกอบการจะเร่งขายโครงการเดิม แทนการเปิดโครงการใหม่ อย่างไรก็ตาม จะมีบางบริษัทเปิดโครงการใหม่ในบางทำเลที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะโครงการแนวราบ ที่มีความต้องการสูง ตามรูปแบบ New Normal ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์การทำงานที่บ้าน ซึ่งเชื่อว่าจะยังคงอยู่ แม้ไม่มีโควิด-19ก็ตาม”
สำหรับผลประกอบการบริษัทอสังหาฯในไตรมาส1ปี 63 นั้น จะพบว่า 29 บริษัท จะมีรายได้รวม 59,207.66 ล้านบาท ลดลงในสัดส่วนร้อยละ 30.43 และกำไรสุทธิ 8,176.88 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 40.68 แต่เมื่อเทียบความสามารถในการทำกำไร (Net Profit Margin) ของบริษัทจดทะเบียน ยังคงสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 13.81 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ขณะที่ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยเฉลี่ยยังต่ำกว่า 2:1 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทอสังหาฯ แตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่หนี้ต่อทุนของบริษัทอสังหาฯ สูงเกินกว่า 2:1 ทำให้มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจเมื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว
ในขณะเดียวกัน จากการวิเคราะห์กำลังซื้อในไตรมาส1ที่ผ่านมา พบว่า ความต้องการยังคงมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของโครงการแนวราบและอาคารชุด เพื่อการอยู่อาศัย รายได้ที่ลดลงของผู้ประกอบการอสังหาฯโดยเฉลี่ยร้อยละ 30.43 ในไตรมาส1 เป็นผลมาจากไม่สามารถโอนที่อยู่อาศัยให้กับผู้ซื้อจากต่างประเทศ ที่ไม่สามารถมาโอนอาคารชุดได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบางส่วนเป็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่อการลงทุน ที่ชะลอตัวในตามภาวะเศรษฐกิจ.