มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลใช้เอทานอล ลดลง
สนพ. คาดผลผลิตปาล์มน้ำมัน เดือน พ.ค.-มิ.ย. ลดลงร้อยละ 11 ส่วนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การใช้รถยนต์ลดลง ส่งผลให้การใช้เอทานอลในส่วนผสมแก๊สโซฮอล์ลดลงวันละกว่า 1 ล้านลิตร
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ติดตามสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงวันที่ 25-31 พ.ค. 63 คาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมัน เดือน พ.ค. และมิ.ย. จะอยู่ที่ประมาณ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.83 จากปีที่แล้ว ส่วนเอทานอลภาคเชื้อเพลิงในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือน มี.ค. ประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน โดยมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์เพื่อเดินทางลดลง ส่งผลทำให้การใช้เอทานอลที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สถานการณ์ไบโอดีเซล (B100): ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 25-31 พ.ค. 63 อยู่ที่ 25.16 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.15 บาทต่อลิตร
ราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 18-22 พ.ค. 2563 อยู่ที่ 3.10 – 3.30 บาทต่อ กก. โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20.5 – 21.25 บาทต่อ กก. ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบรวม ณ สิ้นเดือน เม.ย. ประมาณ 251,369 ตัน สูงขึ้นจากเดือน มี.ค. ประมาณ 48.70%
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมัน เดือน พ.ค. และมิ.ย. จะอยู่ที่ประมาณ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ตามลำดับ ลดลงร้อยละ 10.83 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กรมการค้าภายใน คาดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคไตรมาสที่ 2 ปี 63 อยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตัน/เดือน ความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะลดลง จากมาตรการ lockdown
ณ สิ้นเดือน มี.ค. ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.32 ล้านลิตร/วัน โดยอยู่ในช่วงการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ
ราคาวัตถุดิบ CPO ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 16.46 บาทต่อกก. และเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้มาเลเซียประกาศเลื่อนกำหนดการการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 เป็นน้ำมันฐาน ออกไปเป็นเริ่มเดือน ก.ย. 62 โดยคาดว่าจะปรับมาใช้ทั่วประเทศภายใน 15 มิ.ย. 64
เอทานอล ราคาเอทานอลอ้างอิง ในเดือนพ.ค. 2563 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า
โรงงานเอทานอลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 26 โรง มีกำลังการผลิตรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน ผลิตจริงในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 4.49 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนก.พ. 0.65 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการใช้ในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมี.ค.ประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน จากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์ในการเดินทางลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง และการใช้เอทานอลลดลงไปด้วย
ปริมาณการใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 0.52 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.15 ล้านลิตรต่อวัน