SCB CIO การเปลี่ยนแปลงจากคู่แข่งเป็นพันธมิตรของ LIBRA 2.0
SCB CIO วิเคราะห์LIBRA 2.0 กับ CENTRAL BANK DIGITAL CURRENCY การเปลี่ยนแปลงจากคู่แข่งเป็นพันธมิตร ได้ผลหรือไม่
การกลับมาของ LIBRA ที่ร่วมมือกับทางรัฐบาลมากขึ้น ผ่านมาประมาณเกือบปีกับการเปิดตัวโครงการ Libra ที่ Facebook เป็นผู้ผลักดัน ซึ่งช่วงแรกดูเหมือนจะได้รับความนิยมและมีพันธมิตรเข้าร่วมมากมาย ทั้ง Visa, Master Card หรือ Paypal โดยมีภารกิจที่จะเป็น “สกุลเงินของโลก”ซึ่งบริหารงานโดยองค์กรอิสระที่ชื่อ “Libra Association” แต่จากช่วงที่ผ่านมาโครงการ Libra ก็เผชิญปัญหาในหลายด้านจากหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ เองหรือการถอนตัวจากพันธมิตรเอกชนต่างๆ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการ Libra ไม่สำเร็จลุล่วงอย่างที่วางแผนไว้ ไม่ใช่อุปสรรคด้านเทคโนโลยี ความน่าเชื่อถือแต่มันคือการที่สกุลเงิน Libra จะทำให้อำนาจรัฐ และธนาคารกลางถูกลดบทบาทลง รวมถึงความน่าเชื่อถือของเอกชนในการสร้างเงิน Digital เพื่อเป็นตัวกลางของเงินให้มีความเป็นกลางมากที่สุด
แม้ Libra จะบอกว่าตัวเองเป็น Stable Coin ที่มีสินทรัพย์จริงหนุนหลังเป็นเงินของสกุลประเทศนั้นก็ตาม แต่ลองคิดภาพว่าแต่ละประเทศอนุญาตและใช้เงินสกุล Libra จริง แสดงว่าต้องมีการพึ่งพิงระบบของ Libra เสมือนเป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ และหมายความว่านอกจากรัฐบาลแล้ว Libra ก็จะรู้ถึงข้อมูลการใช้-จ่ายเงินของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบัน Customer Data เป็นข้อมูลที่มีค่ากับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างมาก
แต่ทาง Libra ก็กลับมาในชื่อ Libra 2.0 ที่มีการประณีประณอมกับทางฝั่งรัฐบาลและธนาคารกลางมากขึ้น โดย Libra Coin แบบที่ให้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้ามาสร้างเงินสกุลดิจิทัลเองได้ โดยเริ่มแรกมี 4 สกุลเงินคือ USD, EUR, GBP และ SGD โดยต้องมีเงินสำรองในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยเก็บไว้ในบัญชีธนาคารของ Libra และมีการปรับปรุงระดับความปลอดภัย และกฏเกณฑ์อื่นเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตามอาจจะไม่ตอบโจทย์นี้เรื่อง ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานที่จะไม่ถูกนำไปหาประโยชน์เรื่องอื่นๆ
หันกลับมาดูทางเอเชียกันบ้าง
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นทางธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ออกข่าวความคืบหน้าในการใช้เงิน Digital Yuan หรือ Digital Currency Electronic Payment (DC/EP) โดยเป็นการเริ่มทดลองใน 4 เมือง ได้แก่ เซิ่นเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และสงอัน โดยมีการร่วมมือกับร้านค้าอย่าง Starbucks และ McDonald’s โดย Digital Yuan จีนนั้นจะสามารถใช้กับ App ของตนเองหรือใช้ร่วมกับระบบ Wepay, Alipay ก็ได้
แน่นอนครับว่าประเทศจีนที่ยังคงมีการ Block Facebook และยิ่งในช่วงปัจจุบันเริ่มมีประเด็นสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-จีน ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่มีทางที่จะเข้าร่วม และใช้เงินสกุล Libra อย่างแน่นอน
สำหรับประเทศไทยเองนั้นคุ้นชินกับ Digital Money มาสักพักแล้ว เช่น Rabbit Line pay หรือ True wallet ที่ใช้แค่ในระบบปิดของตนเองอย่างซื้อของใน 7-11 หรือชำระค่าโดยสาร แต่ก็ยังต้องทำการชำระเงินบาทเข้ามาในระบบก่อน และยังไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย
แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการพัฒนา “โครงการอินทนนท์” ที่เป็นเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่นำเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือระบบ Blockchain มาประยุกต์ใช้ โดยความคืบหน้าล่าสุดผลการทดสอบโครงการอินทนนท์ระยะที่ 3 สามารถโอนเงินข้ามประเทศระหว่างธนาคารสมาชิกได้แบบ Real-time โดยได้ทดสอบกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) และสำเร็จไปได้ด้วยดี
Digital Currency นั้นมาแน่ แต่ LIBRA จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ?
การเข้ามาของ Digital Currency คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยธุรกิจแบบเดิมอย่าง ร้านแลกเงินต่างๆก็อาจจะมีบทบาทน้อยลงไปบ้าง เพราะปัจจุบันการชำระเงินสกุลต่างประเทศ หรือการพกเงินไปเที่ยวต่างประเทศ สามารถชำระผ่านช่องทางที่ไม่ใช่เงินสดเช่น Credit Card, Paypal หรือบัตรเดบิตท่องเที่ยว และในอนาคตเมื่อ Digital Currency สามารถใช้ได้อย่างเป็นทางการ การโอนเงินชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศสำหรับภาคธุรกิจก็จะรวดเร็ว ถูกต้อง และมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางในแต่ละประเทศนั้นได้มีโครงการพัฒนา Digital Currency เป็นของตนเองขึ้นมา แม้จะมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกันบ้าง เช่น ประเทศจีนที่กล่าวว่าไม่ได้ใช้เทคโนโลยี Blockchain ต่างกับประเทศไทยเรา แต่ก็ทำให้โครงการ Libra นั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างที่วางแผนไว้น้อยลง