ผลผลิตโรงงานจีนหดตัวเกินคาด
กิจกรรมในภาคการผลิตของจีนหดตัวลงเกินคาดในเดือนก.ค.อ้างอิงจากผลสำรวจอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.
โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจของจีนอาจกำลังสูญเสียแรงกระตุ้นอีกครั้ง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) อย่างเป็นทางการปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.9 คะแนนในเดือนก.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับ 50.0 คะแนนในเดือนมิ.ย. และคะแนนที่ต่ำกว่า 50 คือการขยายตัวที่แยกจากการหดตัวบนข้อมูลพื้นฐานประจำเดือน
ทั้งนี้ โพลล์จากนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าคะแนนน่าจะอยู่ที่ 50.0 คะแนน
หลังจากมีการขยายตัวติดต่อกันถึง 3 เดือนจากเดือนมี.ค.-พ.ค. การเติบโตในส่วนโรงงานของจีนก็หล่นวูบในเดือนมิ.ย. ถึงแม้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะดีเกินคาดเล็กน้อยในไตรมาส 2
นักวิเคราะห์กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่ยังคงมีเสถียรภาพ แต่กิจกรรมทางธุรกิจเพิ่มการพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐมากขึ้นและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย และนักวิเคราะห์จีนคาดการณ์ว่า จีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในปีนี้
นอกจากนี้ ผลกำไรของอุตสาหกรรมการผลิตพุ่งขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดใน 3 เดือนในไตรมาสสิ้นสุดเดือนมิ.ย.แต่กระจุกตัวอยู่ในบางอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และการแปรรูปน้ำมัน
ทั้งนี้ ดัชนีพีเอ็มไอแสดงว่า ผลผลิตโรงงานลดดลงมาอยู่ที่ 52.1 คะแนนในเดือนก.ค.จากเดิม 52.5 คะแนนในเดือนมิ.ย.และคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลงเล็กน้อยจาก 50.5 คะแนนในเดือนมิ.ย.ลงมาอยู่ที่ 50.4 คะแนนในเดือนก.ค.
ยอดคำสั่งซื้อในการส่งออกของจีนหดตัวลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังซบเซา และผลกระทบจากการลงประชามติของสหราชอาณาจักรในการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
ผู้ประกอบการผลิตยังคงลดตำแหน่งงานลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนคนว่างงานอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลได้ปรับลดความสามารถในการผลิตลงทั่วทั้งอุตสาหกรรม
เจ้าหน้าที่รัฐของจีนยอมรับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ได้ปรับลดกำลังการผลิตเหล็กที่มากเกินไปลง 1 ใน 3 จากที่เคยตั้งเป้าไว้สำหรับปีนี้ แต่จะพยายามมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ทั้งนี้ บริการทางการเงินเติบโตขึ้นแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์กลับลดลง เนื่องจากตลาดอสังหาฯ เริ่มชะลอตัวลงหลังจากคึกคักมากเมื่อช่วงต้นปีนี้
ภาคบริการของจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้วยตัวเลข 53.9 คะแนนในเดือนก.ค.ขยับขึ้นจาก 53.7 ในเดือนมิ.ย. ทางภาครัฐของจีนกำลังจับตามองการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งของภาคบริการ เนื่องจากจีนมีแผนจะเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมหนักและการผลิตเพื่อการส่งออก มาให้ความสำคัญกับภาคบริการเพิ่มขึ้น.