อสังหาฯห่วงแบงก์ลดวงเงินกู้ทำยอดโอนบ้านสะดุด
อสังหาฯประเมินดอกเบี้ยนโยบายลดลง อาจไม่ได้ช่วยให้ลูกค้าได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เหตุแบงก์ลดวงเงินกู้ลูกค้าทันที หลังมองโควิด-19 ลากยาว ธุรกิจที่ทำอยู่ถูกกระทบ ทั้งที่เป็นผลระยะสั้น
หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จากระดับ 0.75% สู่ระดับ0.50% โดยให้มีผลทันที เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลาประเทศทั่วโลก และยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาด ทาง IMF คาดจีดีพีโลกปีนี้ จะหดตัวติดลบ 3% และมีการคาดการณ์ จีดีพี ไทย จะติดลบ 6.7% ซึ่งหนักสุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่ยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น
นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมทไทม์ พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ จำกัด กล่าวว่า นโยบายปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ มีการมองกันว่า ภายในสิ้นปี 2563
ทางกนง.อาจจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะหดตัวอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็น ถึงความจำเป็นทางด้านนโยบายการคลังที่ยังต้องช่วยกันอยู่ เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำลง ส่งเสริมให้นักลงทุนเริ่มลงทุนหรือขยายกำลังการผลิต
ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์ กำลังปัญหาเรื่องการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งเราพบเห็นว่า ลูกค้าที่เข้าไปกู้กับสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ ลูกค้าเหล่านี้ถูกผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เนื่องจากธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม มีการบริหารจัดการคุมต้นทุนต่างๆ มีการปรับลดเงินเดือน มีการยกเลิกหรือลดค่าล่วงเวลา ทำให้ธนาคารเหล่านี้ กลับไปมองจะเป็นการลดถาวร เลยวิเคราะห์ไปลดวงเงินกู้ของลูกค้าลงทันที
“นั่นแปลว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ จะไม่เป็นประโยชน์เลย ถึงแม้จะมีต้นทุนต่ำ ทำให้คนมาซื้อที่อยู่อาศัย แต่นโยบายแบงก์รัฐ หรือ ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยเงินกู้ ไม่ได้สะท้อนความจริงว่า ลูกค้าแค่ถูกลดเงินเดือน 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และลดโอทีชั่วคราว ซึ่งเป็นปัญหาระยะสั้นเพียง 3-6 เดือน แต่แบงก์กลับมองเป็นเรื่องถาวร เลยลดวงเงินกู้แบบถาวรไป ลดตามคุณสมบัติของลูกค้าระยะสั้น แต่กำหนดระยะยาว จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาดูปลายทาง ที่แบงก์กลับไปลดวงเงินหมดเลย เช่น เดิมลูกค้าเคยซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท แต่ถูกลดเหลือ 2.5 ล้านบาท นั่นจะทำให้ลูกค้ากู้ไม่ได้ กู้ไม่ผ่านหมดเลย เลยทำให้ลูกค้ายกเลิกการทำธุรกรรมการซื้อบ้าน ผู้ประกอบการก็ต้องนำโครงการมาทำตลาดใหม่ ต้นทุนเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านในโครงการของบริษัท ก็ประสบปัญหาเช่นกัน”