CIMBT ปรับลดมุมมอง GDP เศรษฐกิจไทยเป็น-8.9%
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับลดมุมมอง GDP เศรษฐกิจไทย 2563 ลงจาก -6.4% เป็น -8.9% เมื่อเศรษฐกิจไทยต้องเวทมนตร์ วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้อาจเลวร้ายที่สุดที่ประเทศไทยเคยเผชิญ รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2541 ที่เศรษฐกิจ -7.63%
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัว สภาพัฒน์รายงานตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกไว้ที่ -1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน หรือหดตัว 2.2% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับฤดูกาล ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเช่นนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนระมัดระวังการเดินทางและการเข้าไปในพื้นที่สาธารณะต่างๆ รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกมาตรการจำกัดการใช้พื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการปิดกิจการห้างร้านเพื่อลดการแพร่ระบาด ซึ่งแม้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีทางสาธารณสุข
แต่ในทางเศรษฐกิจก็ทำให้คนว่างงานและขาดรายได้ โดยในช่วงไตรมาสแรกนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวถึง 38% ซึ่งกระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว นอกจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอแล้ว อุปสงค์ภาคต่างประเทศก็ชะลอตัวและกระทบภาคการส่งออกของไทย โดยการระบาดของไวรัสจากจีนไปทั่วโลกได้มีผลให้มีคนว่างงานในหลายประเทศและคนก็ระมัดระวังในการจับจ่ายซื้อของ เมื่อส่งออกไม่ได้ ภาคการผลิตก็มีปัญหาเพราะผลิตไปก็ขายลำบาก กำลังการผลิตก็เหลือ สต๊อกสินค้าก็ล้น บริษัทและโรงงานต่างพากันลดคนงานหรือให้ลาพักโดยไม่รับเงินเดือนในช่วงนี้ และยิ่งทำให้การบริโภคในประเทศอ่อนแอลงเพราะขาดกำลังซื้อ ไม่เพียงกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่หายไป แต่กำลังซื้อคนในประเทศก็อ่อนแอจากรายได้ที่หดหาย
คนในภาคเกษตรก็ยากลำบากจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงกระทบผลผลิตให้น้อยลง ในส่วนภาครัฐเองก็มีความล่าช้าในการออกงบประมาณรายจ่ายทำให้การบริโภคและการลงทุนของรัฐบาลหดตัว อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้ออกมาตรการทางการคลังในการประคองเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งเราหวังว่าภาครัฐจะเป็นพระเอกในรอบนี้
เศรษฐกิจไทยกำลังดำดิ่งในไตรมาสที่ 2
แม้รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู้ระบบด้วยการออกมาตรการชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 อีกทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการลดภาระผู้กู้ในการชะลอการชำระหนี้ชั่วคราว และได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมอัดฉีดเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ แต่ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากภาคต่างประเทศ ที่การส่งออกสินค้ามีโอกาสหดตัวได้ถึง 20% และจำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสหดตัวได้ถึง 90% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทางสำนักวิจัยจึงได้คาดว่า GDP ไตรมาสที่สองนี้มีโอกาสหดตัวได้ถึง 14% และน่าจะลดการหดตัวลงในช่วงที่เหลือของปี
โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังอาจหดตัวราว 10% และเนื่องจากการหดตัวที่ลึกและลากยาวของเศรษฐกิจที่มากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวช้า ทางเราจึงได้ปรับลดมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก -6.4% เป็น -8.9% และที่เราต้องเตือนคือ วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้อาจเลวร้ายที่สุดที่ประเทศไทยเคยเผชิญ ซึ่งจะรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยในปี 2541 หดตัว 7.63% โดยเฉพาะไตรมาสที่สองปีนั้นหดตัวลึกถึง 12.53% แต่รอบนี้อาจได้เห็นเศรษฐกิจหดตัวเลขสองหลักอีกครั้งและลากยาวกว่าเดิม