ผู้ลี้ภัยทั่วโลกพุ่งถึง 65 ล้านคน
สำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติรายงานว่า จำนวนผู้ลี้ภัยจากสงครามและความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มจำนวนขึ้นสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา
มีการประเมินว่าจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกในขณะนี้เพิ่มสูงถึง 65.3 ล้านคนในช่วงสิ้นปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 5 ล้านคน
ข้อมูลของสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกในขณะนี้คิดเป็น 1 ใน 113 ส่วนของจำนวนประชากรทั้งหมดบนโลกใบนี้
ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า เขามีความกังวลถึงสภาวะ ‘ความหวาดกลัวชาวต่างชาติ’ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วยุโรปเนื่องจากหลายประเทศต้องดิ้นรนกับวิกฤติผู้อพยพที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้
โดยการหลั่งไหลของผู้อพยพในครั้งนี้ เป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนำไปสู่ความคิดเห็นที่ต่างขั้วคือ กลุ่มประเทศที่ต้องการโอบอุ้มให้ความช่วยเหลือและประเทศที่ดำเนินนโยบายกีดกันผู้อพยพ
ในรายงานประจำปีที่เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ทางสหประชาชาติรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกพุ่งสูงเกิน 60 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่ง หรือ 54% ของผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลนี้มาจาก 3 ประเทศคือซีเรีย อัฟกานิสถาน และโซมาเลีย
ถึงแม้จะมีการให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่อพยพเข้าไปในยุโรป แต่ทางยูเอ็นรายงานว่า 86% ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดมีที่พักพิงอยู่ในหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
โดยตุรกีเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศมากที่สุด ด้วยจำนวนสูงถึง 2.5 ล้านคน รองลงมาคือปากีสถานและเลบานอน
ทั้งนี้ ในปี 2558 มีจำนวนผู้อพยพหลั่งไหลเข้าไปในยุโรปโดยทางทะเลมากถึง 1,011,700 คนและจากทางภาคพื้นดินอีก 35,000 คนจากข้อมูลขององค์การผู้อพยพระหว่างประเทศ (IOM) แต่ข้อมูลจากองค์กรอื่นมีจำนวนสูงกว่านี้มาก
ทั้งนี้ จุดหมายปลายทางที่ผู้อพยพต้องการเดินทางไปพึ่งพิงมากที่สุดคือประเทศทางตอนเหนือของยุโรปที่ร่ำรวยและมีรัฐสวัสดิการที่ดี เช่น เยอรมนี และสวีเดน
วิกฤติผู้อพยพในยุโรปก่อให้เกิดความแตกแยกในนโยบายทางการเมืองในสหภาพยุโรป หรืออียู โดยบางประเทศที่มีนโยบายกีดกันผู้อพยพได้สร้างรั้วขึ้นตามพรมแดนเพิ่อสกัดกั้นการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพ โดยทางอียูได้ทำข้อตกลงกับทางตุรกีในความพยายามที่จะจำกัดจำนวนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ให้เดินทางเข้าไปในอียู แน่นอนว่าข้อตกลงนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน.