ส่งออกญี่ปุ่นดิ่งลง
ยอดส่งออกของญี่ปุ่นลดดิ่งลงเร็วที่สุดในรอบ 4 เดือนในเดือนพ.ค.จากอุปทานที่หยุดชะงัก
จากผลกระทบของแผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะในเดือนเม.ย.และการเติบโตที่ชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจใหม่ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขการค้าในไตรมาสนี้ยังคงไม่สดใส
โดยตัวเลขการส่งออกลดลงถึง 11.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.เทียบกับตัวเลขประเมินโดยเฉลี่ยว่าจะลดลง 10.4 % ต่อปี และลดลง 10.1% ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การส่งออกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเดือนที่จะถึงนี้เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศส่งสัญญาณที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันในการที่จะผลักดันให้ภาคส่งออกมีการขยายตัว หลังจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกระทบการส่งออกและรายได้ของประเทศ
ทั้งนี้ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า การส่งออกที่ลดลงในเดือนพ.ค. มาจากยอดส่งออกเหล็กเซมิคอนดัคเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ที่ลดต่ำลง
นับเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตทางภาคใต้ ในช่วงกลางเดือนเม.ย.ซึ่งทำให้เกิดดินถล่มและทำให้โรงงานผลิตอิเล็คโทรนิคส์และชิ้นส่วนยานยนต์ในพื้นที่หยุดชะงัก
หลายบริษัทสามารถที่จะฟื้นฟูการผลิตได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับบางโรงงานต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะกลับเข้าสู่กำลังการผลิตเดิมได้อย่างเต็มรูปแบบ
ยอดส่งออกไปที่จีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นลดฮวบลงถึง 14.9% ในเดือนเม.ย. ขณะที่ยอดส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาลดต่ำลง 10.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยอดส่งออกไปประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของยอดส่งออกของญี่ปุ่นดิ่งลงถึง 13.0% และยอดส่งออกไปยุโรปลดลง 4.0%
เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 15% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ จากการคาดการณ์ว่าจะสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น หากเงินเยนยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้รายได้จากการส่งออกลดลง และเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปยังบริษัทผู้ส่งออกให้ชะลอการปรับขึ้นค่าแรงและค่าใช้จ่ายในการลงทุนออกไป
ทั้งนี้ เงินเยนที่แข็งค่ายังส่งผลให้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นต้องประสบกับความยุ่งยากในการจัดการกับเงินเฟ้อเพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ.