“โควิด-ขาดทุน” ภารกิจสุดหิน CEO ปตท.(คนใหม่)
ท่ามกลางวิกฤติ โควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว ความต้องการใช้น้ำมันลดลง จากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ปตท.ประสบสภาวะขาดทุนครั้งแรก โจทย์แรกที่ CEO ปตท.คนใหม่ ต้องเร่งสาง…
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ บอร์ด ปตท. ที่มีนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธาน เมื่อ 19 ธ.ค.62 ได้พิจารณาอนุมัติแต่งตั้ง “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนใหม่ หรือ ซีอีโอ ปตท.คนที่ 10 ตามที่คณะกรรมการสรรหาซีอีโอเสนอ แทนนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่หมดวาระเกษียณอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 12 พ.ค.63
13 พ.ค.63 จึงเป็นวันแรกที่ “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” เริ่มเข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการ ในฐานะ ซีอีโอ ปตท.คนที่ 10 ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดลง ทุบราคาน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ของสหรัฐฯ ดิ่งลงในระดับต่ำกว่า 0 ดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อ 20 เม.ย.63
แน่นอนว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมัน อย่าง “ปตท.” ย่อมได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลง ดังที่เห็นจาก ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 63 ปตท.ขาดทุนสุทธิถึง 1,554 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 44
สาเหตุหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่มีขาดทุนจากสต๊อก น้ำมันตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมากจาก 67.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 23.4 สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ประสบภาวะขาดทุนสต๊อกน้ำมันกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และยังมีการ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้สกุลต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐอีกด้วย
เหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็นภาระหนัก ของ “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ซีอีโอ ปตท.คนที่ 10 ที่ต้องนำพาองค์กรระดับประเทศฝ่าฟันให้พ้นวิกฤติอย่างไม่สะบักสะบอม
“จากการประเมินฐานะการเงินผ่านการทำ Stress test ปตท.มั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 63 จะเป็นบวก แม้ในไตรมาสแรกปีนี้จะมีผลขาดทุน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับผลการดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 แต่ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ธุรกิจน่าจะฟื้นตัว”
“นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” กล่าวผ่านวีดีโอคอนเฟอร์แรนท์กับฝ่ายบริหารและพนักงาน ปตท.พร้อมกับยืนยันว่า ปตท.มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และกลุ่ม ปตท.ยังมีความพร้อมเดินหน้าลงทุนตามแผน 5 ปี มูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้มีแผนลงทุน 1.4 แสนล้านบาท
“ปตท.ได้ทำการประเมินศักยภาพองค์กรโดยการทำ Stress Test เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความมั่นใจองค์กร ปตท.ยังมีความเข็งแกร่ง โดยในกรณีที่แย่ที่สุด ในปีนี้ ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท.จะยังเป็นบวก รวมถึงยังมี room ความพร้อมที่จะลงทุนในปีนี้ และมีศักยภาพที่จะลงทุนต่อเนื่องไปอีก 5 ปีในธุรกิจใหม่ๆ อีกทั้งสถาบันเครดิตทางการเงินได้เข้ามาประเมินแล้วให้เครดิต เรทติ้ง กลุ่ม ปตท.ที่ BBB+ ซึ่งถือว่ายังอยู่ใน Investment Grade”
นายอรรถพล ยังได้ย้ำกับพนักงานของ ปตท.ว่า แม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่พนักงาน ปตท.ทุกคน ยังต้องเคร่งครัดกับการดูแลตัวเองตามมาตรการรัฐ เรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย และดูแลเรื่องความสะอาด เพื่อเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโควิด-19 เกิดการระบาดซ้ำ
ส่วนของการปรับตัวรองรับสถานการณ์และลดผลกระทบนั้น ปตท.ได้ มีการจัดตั้ง PTT Group Vital Center ขึ้นมา เพื่อที่จะดูแลและบริหารจัดการในช่วงนี้ รวมทั้งการวางแผนไปข้างหน้า โดยการบริหารจัดการจะดำเนินการตาม 4 R ประกอบด้วย
Resillience การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร โดยจัดทำ Stress test ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุนของปตท. จัดทำ Group optimization ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้ง Value Chain และการรักษาสภาพคล่องขององค์กร
Restart เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจนำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด รักษาความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มปตท.ไว้ให้ได้
Re-imagination การเตรียมความพร้อมที่จะออกแบบธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนทางธุรกิจที่จะเป็น Next Normal ทั้งธุรกิจ ต้นน้ำ ปลายน้ำ และ New S Curve
Reform จะต้องมีการปรับเปลี่ยน จัดโครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตพร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดแบบไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ โดยเตรียมที่จะนำแผนของ Re-imagination และ Reform เข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session:STS) ต่อไป
และสิ่งที่น่าจับตา คือแนวคิด Powering Thailand’s Transformation ที่ “นายอรรถพล” จะนำมาใช้ผลักดันให้กลุ่ม ปตท.ให้เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง ด้วยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ตามนั้นหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป…