เศรษฐกิจบราซิลสะดุดต่อเนื่อง
เศรษฐกิจของบราซิลหดตัวลง 0.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันถึง 5 ไตรมาสแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ออกมายังคงดีกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะหดตัวสูงถึง 0.8%
ทั้งนี้ นอกจากเศรษฐกิจบราซิลจะถดถอยมากที่สุดในรอบ 10 ปีแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญอีกด้วย โดยประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ต้องลงจากตำแหน่งหลังถูกลงมติถอดถอนจากสภา
ก่อนหน้านี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้หั่นตัวเลขคาดการณ์ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของบราซิลลง โดยแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ทางการเมืองและการทุจริต
ทั้งนี้ ทางโออีซีดีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจบราซิลจะหดตัวลงมาอยู่ที่ 4.3% ในปีนี้ โดยการผลิตลดลงใน 3 ภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญคือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ
อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกกลับเปล่งประกายโดดเด่นออกมา โดยมีการเติบโตถึง 6.5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2558
นายนีล เชียริง หัวหน้านักวิเคราะห์ประจำประเทศเศรษฐกิจใหม่ของบริษัทแคปปิตัล อิโคโนมิคส์ ให้ความเห็นว่า ตัวเลขการหดตัวที่ดีกว่าการคาดการณ์ได้อานิสงส์จากการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสที่แล้วสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามดิ้นรนครั้งสุดท้าย ในการบริหารงานของอดีตประธานาธิบดีดิลมาที่จะซื้อใจประชาชน โดยนายเชียริง กล่าวเสริมว่า ด้วยนโยบายงบประมาณที่รัดกุมครอบคลุมถึงครึ่งหลังของปีนี้ อาจช่วยประคองเศรษฐกิจต่อไปได้
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายไมเคิล เทเมอร์ ที่มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลคนปัจจุบันในช่วงคั่นเวลานี้ได้แถลงว่า รัฐบาลจะไม่ตัดลดงบประมาณด้านสาธารณสุข และการศึกษาลง แต่เตือนว่าอาจต้องมีการเฉลี่ยงบด้านหนังสือให้สมดุล และพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อไป เพราะประเทศยังขาดดุลงบประมาณอยู่และมีประชาชนว่างงานมากถึง 11 ล้านคน
โดยถ้อยแถลงของเขาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.มีว่า “ ไม่มีโอกาสที่บราซิลจะมีภาวะฟองสบู่และเป็นประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพ ”
อดีตประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ถูกถอดถอนในเดือนที่แล้วเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ทำผิดกฎหมายการใช้งบประมาณของประเทศ โดยกระบวนการสอบสวนโดยวุฒิสภายังคงดำเนินต่อไปถึงเดือน ก.ย.ปีนี้ ทำให้บราซิลยังคงไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป