อสังหาฯเร่งขายสินทรัพย์พยุงธุรกิจสู้โควิด
“เซ็นจูรี่ 21” วิเคราะห์พิษโควิด-19 ซ้ำเติมภาคอสังหาฯ จากรอยช้ำเดิม LTV จับตา อสังหาฯเร่งขยายสินทรัพย์ ลดพนักงาน ขายที่ดิน เพื่อบริหารสภาพคล่อง โยนเผือกร้อน “ทุนต่างชาติ” จีน ญี่ปุ่น จ่อถอนทุน
นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลายบริษัทอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ หรือหุ้นกู้ และจำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ซอฟท์โลนของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยกู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เช่น อาจจะกำหนดให้ต้องขายสินทรัพย์ หรือลดราคาสินค้าลงมา เพื่อระบายสต๊อกที่มีอยู่ออกไปก่อน ซึ่งจะมีบริษัทที่เกิดปัญหาสภาพคล่องให้เห็นแน่นอน ขณะเดียวกัน หลายบริษัทจะต้องลดภาระด้วยการ ลดเงินเดือน หรือให้พนักงานออก รวมถึงการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้
“มาตรการล็อคดาวน์ เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ แต่มีผลกระทบกับทุกภาค การปิดเมือง 1 เดือนจะต้องใช้เวลาฟื้นฟู 6 เดือน และฟื้นตัวอีก 6 เดือน ถ้าปิดเมืองลากถึง 2 เดือน เท่ากับว่าเราจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นในช่วง 1-2 ปีจากนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงมาก จากกำลังซื้อใหม่ที่ลดลง โครงการใหม่เกิดขึ้นน้อย โดยผู้ประกอบการจะเร่งระบายสต๊อกเก่า ด้วยการแข่งขันด้านราคา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดของผู้ซื้อ ขณะที่พันธมิตรต่างชาติก็เริ่มพิจารณาถอนการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือจีนก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน”
ทั้งนี้ วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์อย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขายสินทรัพย์ เพื่อบริหารและรักษาสภาพคล่อง ลดภาระหนี้และดอกเบี้ยที่แบกอยู่ โดยในระยะ 2 ปีนับจากนี้ จะมีการขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ ทั้งโรงแรม รีสอร์ท รวมถึงที่ดินที่ซื้อไว้เพื่อพัฒนาโครงการในอนาคต โดยเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่ทยอยประกาศขายที่ดินออกมาบ้างแล้ว และจะยิ่งมีมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ทั้งการเสนอขาย การจำนอง จำนำ และการขายฝาก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนซื้อหรือไม่ เพราะทุกคนก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมด ส่งผลให้ราคาที่ดินในตลาดจะเริ่มลดลง 20-30% ภายในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ และเราจะไม่เห็นการซื้อขายที่ดินในราคาตารางวาละ 2-3 ล้านบาท โดยเจ้าของที่ดินจะเปลี่ยนจากการขายเป็นการปล่อยเช่าระยะยาวแทน
“รูปแบบการพัฒนาโครงการจากนี้ไป จะจะมุ่งสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จะมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจมากขึ้น โดยโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจะมีบทบาทมากขึ้น และยังเป็นตลาดที่พอไปได้อยู่ ขณะที่สถานการณ์ของตลาดคอนโดมิเนียมต้องใช้เวลา เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ยังมีซัพพลายที่อยู่ในระบบจำนวนมาก ทำให้คาดว่าการเปิดคอนโดมิเนียมใหม่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะลดจำนวนลง แต่การพัฒนาจะเน้นโครงการขนาดเล็กที่อยู่รอบๆ เมืองชั้นใน กระจายไปตามแนวรถไฟฟ้าสายที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และที่จะเปิดในอนาคต เนื่องจากต้นทุนของราคาที่ดินยังปรับตัวไม่สูงเท่ากับในเมือง”.