หนี้ภาคเอกชนพุ่งในจีน/สิงคโปร์ /เกาหลีใต้
บรรดากลุ่มประเทศในเอเชีย หนี้ภาคเอกชนพุ่งขึ้นเร็วที่สุดในจีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ จากรายงานของธนาคารออสเตรเลีย ANZ เมื่อสัปดาห์ก่อน
จากผลวิจัยของ ANZ หนี้ของบริษัทในประเทศเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกับรายได้และความสามารถในการบริหารหนี้
“ จำนวนและความเร็วของหนี้สะสมในภาคเอกชนสูงสุดอยู่ในจีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ” รายงานระบุ “ จากความรุนแรงของโรคระบาดโควิด-19 รวมทั้งมาตรการต่างๆของรัฐบาล ทำให้รายได้ของบริษัทในหลายอุตสาหกรรมถูกกระทบอย่างหนัก หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลทำให้มีการลดอันดับเครดิตของประเทศ และฉุดให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง ”
บริษัทในภาคส่วนพลังงานได้รับผลกระทบรุนแรงในสิงคโปร์และเกาหลีใต้ ขณะที่ในจีน คือบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ อ้างอิงจากรายงาน
ภาคพลังงานของสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 5 ของจีดีพีของประเทศในปี 2562 กำลังประสบปัญหารายได้ติดลบ โดยความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ขาดสภาพคล่องในอุตสาหกรรมนี้ ธนาคาร ANZ ระบุ
“ แม้อุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกจะถูกกระทบ แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นของข้อจำกัดสภาพคล่องในสิงคโปร์ ซึ่งทำให้น่ากังวล ” รายงานระบุ โดยบริษัทเหล่านี้คิดเป็น 15.7% ของยอดหนี้โดยรวมในปีนี้ในบริษัท
รายงานยังระบุว่า บริษัทพลังงานในเกาหลีใต้เอง ก็ “มีหนี้ท่วมและขาดสภาพคล่อง ”
บริษัทผู้ประกอบการ SMEs โดยรวมในประเทศก็น่ากังวล เนื่องจากมีหนี้มากขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยรายงานระบุว่า “ ธุรกิจขนาดเล็กกว่ามีแนวโน้มจะขาดสภาพคล่องได้เร็วกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจากความสำคัญของธุรกิจ SME ที่มีต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ”
ขณะเดียวกัน ในจีน ภาคอสังหาฯ “ มีการขยายตัวเติบโตเกินกำลังจากอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ” ANZ ระบุ
ในสิงคโปร์ บรรดาบริษัทดูจะผันผวนกว่า เนื่องจากประสบปัญหาสภาพคล่องและมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รายงานระบุ
“ บริษัท 6 ใน 10 ภาคส่วนธุรกิจมีหนี้สูงท่วมหัวและขาดสภาพคล่อง ” รายงานระบุ
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า บริษัทในสิงคโปร์มีความอ่อนไหวมากกว่าจากความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เมื่อเทียบกับอีกสองประเทศ เนื่องจาก 60.9% ของตราสารหนี้เอกชนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งตรงข้ามกับเกาหลีใต้ ที่มีเพียง 1 ใน 5 ของพันธบัตรที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศ
แต่ ANZ ระบุว่า บริษัทในเกาหลีใต้มีความเสี่ยงอื่น คือขาดสภาพคล่อง “ แม้จะมีผลกระทบน้อยกว่าจากความเสี่ยงของอัตราเงินต่างประเทศ แต่บริษัทมีความเสี่ยงสูงในเรื่องหนี้ และ 80% มีหนี้สูงเกินและมีขีดจำกัดของกระแสเงินสด ” รายงานระบุ
โดยรายงานระบุว่า บริษัทในจีนดูจะอยู่ในสถานะดีที่สุด คือมีเพียง 3 ใน 10 ส่วนของบริษัทที่มีการขยายตัวเกินกำลัง และหนี้ส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ “ ซึ่งเป็นการการันตีการผิดนัดชำระหนี้โดยปริยาย ”