สหรัฐฯ ยื่นขอสวัสดิการว่างงานทะลุ 30 ล้าน
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ชี้ว่า สหรัฐฯ มีผู้ยื่นขอรับสวัสดิการคนว่างงานมากถึง 3.84 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังตกต่ำ แม้จะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้วก็ตาม
ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 3.5 ล้านรายจากการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์ดาวโจนส์
โดยจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการคนว่างงานในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 25 เม.ย.อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. แต่ทำให้ช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการคนว่างงานทั้งหมดทะลุ 30.3 ล้านคนไปแล้ว ทำให้เป็นวิกฤตการจ้างงานที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค. เคยพุ่งขึ้นไปแตะ 6.87 ล้านราย และค่อยๆลดลงหลังจากนั้นเป็นต้นมา
มีตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้นในช่วงที่รัฐบาลพยายามควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด -19 โดยบางรัฐพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีการล็อกดาวน์
จำนวนการยื่นขอสวัสดิการคนว่างงานสูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลขยายรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ ก่อนหน้านี้ สถาบันนโยบายเศรษฐกิจประเมินว่า จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการคนว่างงานอาจต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 12 ล้านรายจากการขาดความสามารถในการยื่นขอรับ หรือมีอุปสรรคขัดขวางอื่นๆ
โดยรัฐวอชิงตันมีจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานมากที่สุดสำหรับสัปดาห์ล่าสุด คือสูงถึง 62,282 ราย เพิ่มขึ้น 75% จากสัปดาห์ก่อน ตรงข้ามกับรัฐแคลิฟอร์เนียที่ลดลงกว่า 200,000 ราย และรัฐเพนซิลเวเนียลดลง 63,312 ราย
ปัญหาในตลาดแรงงานที่เป็นผลสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำแสดงให้เห็นในข้อมูล โดยตัวเลขจีดีพีหดตัวลง 4.8% ในไตรมาสแรก จากรายงานของรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะย่ำแย่ลงอีกในการปรับแก้ไขครั้งสุดท้าย และจะแสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ไม่เพียงคาดการณ์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะปรับลดลง แต่ยังทำนายว่าไตรมาส 2 จะลดดิ่งลงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสหรัฐฯ อีกด้วย
ตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานมีขึ้นก่อนหน้ารายงานการจ้างงานของภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การเกษตรประจำเดือนเม.ย. โดยเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ว่า อัตราการว่างงานมีแนวโน้มจะสูงขึ้นประมาณ 10% จากระดับ 4.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนมีนโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม
คาดการณ์ว่าการจ้างงานในภาคส่วนที่ไม่ใช่เกษตรกรรมจะลดลงมาอยู่ที่ 2.25 ล้านราย โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 15.1% จากการประเมินเบื้องต้นของ FactSet