ประชุมจี – 7 ที่ญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่นพาผู้นำประเทศกลุ่มจี-7 ไปร่วมประกอบพิธีทางศาสนาชินโต ที่ศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด นับเป็นการเริ่มเปิดประชุมจี-7 ซัมมิทอย่างเป็นทางการ
นายกรัฐมนตรีอาเบะ กล่าวในระหว่างการเยือนศาลเจ้าว่า กลุ่มผู้นำประเทศเหล่านี้จะได้ “เข้าใจถึงจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น”
ทั้งนี้ จะมีการประชุมกลุ่มผู้นำประเทศมหาอำนาจ จี-7 ที่อิเสะ-ชิมะเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งจะเป็นการรวมตัวกันของผู้นำชาติอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญของโลก 7 ประเทศ
โดยในวันที่ 27 พ.ค. ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกาจะไปเยือนเมืองฮิโรชิมา ซึ่งเป็นเมืองแรกที่มีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นการประชุมครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้
การพาผู้นำประเทศไปเยือนศาลเจ้าครั้งนี้ ก่อให้เกิดการโต้แย้งและถกเถียงพอสมควร เพราะนักวิจารณ์หลายคนมองว่านายกฯอาเบะพยายามเอาใจผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยมของเขาที่ต้องการฟื้นฟูคุณค่าของประเพณีญี่ปุ่นดั้งเดิม
ทั้งนี้ ประเทศกลุ่มจี-7 ที่ประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นแสดงความกังวลเรื่องสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบัน
สถานการณ์วิกฤตผู้อพยพของยุโรปได้รับการหยิบยกมาเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรป กล่าวเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ว่า เขาจะร้องขอการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลุ่มประเทศจี-7 ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากทั่วโลก
โดยนายทัสค์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้ากลุ่มประเทศจี-7 ไม่เป็นผู้นำในการจัดการกับวิกฤตผู้อพยพครั้งนี้ ก็ไม่มีประเทศไหนทำได้แล้ว”
นอกจากนี้ การก่อการร้าย ความมั่นคงในโลกไซเบอร์และความมั่นคงทางทะเล ล้วนเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตรีอาเบะได้มีการพบปะพูดคุยกัน โดยประธานาธิบดีโอบามาได้แสดงความเสียใจกับการจับกุมทหารสหรัฐฯ นายหนึ่งที่เมืองโอกินาวาได้ ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของสตรีชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง
โดยนายโอบามา ยังได้เอ่ยถึงหมายกำหนดการที่จะไปเยือนเมืองฮิโรชิมาของเขาว่า เป็นการให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตทุกคนในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นการย้ำจุดยืนในวิสัยทัศน์ร่วมกันในเรื่องโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์
นอกจากนี้ ยังเน้นถึงความเป็นพันธมิตรที่พิเศษของทุกประเทศที่ก้าวผ่านอุปสรรคมาด้วยกันเป็นเวลาหลายทศวรรษ
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวว่า เขาจะไม่มีการขอโทษในเหตุการณ์การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ในอดีตแต่อย่างใด