ญี่ปุ่นเตือนเบร็กซิทกระทบศก.โลก
นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นกล่าวว่าการที่อังกฤษโหวตเพื่อจะแยกตัวจากสหภาพยุโรปอาจเกิดความเสี่ยงสูงสุดกับเศรษฐกิจโลกได้
ในการให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จี-7 ที่จะมีขึ้นที่ญี่ปุ่นสัปดาห์นี้ นายคุโรดะได้ตอบคำถามสื่อต่างประเทศที่ว่าระหว่างจีน, เบร็กซิท(การออกจากหภาพยุโรปของอังกฤษ)หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เรื่องไหนส่งผลกระทบมากที่สุดต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก
เขากล่าวว่า“เป็นเรื่องของพลเมืองอังกฤษที่จะตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อไปหรือจะออกจากสหภาพยุโรปนี่เป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญมาก ถ้าคนส่วนใหญ่เลือกเบร็กซิทก็จะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก”
โดย นายคุโรดะ ยังกล่าวเสริมว่า เบร็กซิท จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นรวมถึงประเทศเศรษฐกิจใหม่ด้วย
ในเดือนมิ.ย.นี้ จะเป็นวันลงประชามติเรื่องเบร็กซิทว่าจะออกหรืออยู่ต่อไป แต่เสียงจากผู้กำหนดนโยบายจากประชาคมโลกที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปเริ่มดังขึ้น
ทั้งนี้สหรัฐอเมริกา กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายของการโหวตเบร็กซิทที่มีความอ่อนไหวด้านความเชื่อมั่นและนักลงทุนซึ่งอยู่ในระดับที่เปราะบางอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่สนับสนุนเบร็กซิทมองว่าความคิดเห็นเหล่านี้ล้วนเป็นพวกกระต่ายตื่นตูมและพยายามที่จะควบคุมและโน้มน้าวความคิดเห็นของพลเมืองชาวอังกฤษ
ขณะเดียวกัน นายคุโรดะ กล่าวปกป้องนโยบายดอกเบี้ยติดลบของเขาซึ่งสร้างความประหลาดใจไปทั่วโลกเมื่อเขาประกาศใช้เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาโดยเขากล่าวว่านโยบายนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในท้ายที่สุด
โดยเขายังกล่าวว่า เขาตั้งใจที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมอาจมีการลดดอกเบี้ยอีกถึงแม้จะติดลบแล้วก็ตาม ถ้าเขารู้สึกว่าเป็นสิ่งจำเป็นและถ้าเงินเฟ้อต่ำลงถึง 2%
ค่าเงินเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมจี-7 ในสัปดาห์นี้ที่เมืองเซนได โดยบางประเทศเช่น ญี่ปุ่นต้องการที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เยอรมนีและอังกฤษยังคงเชื่อมั่นในวินัยการใช้จ่ายงบประมาณประเทศที่มัธยัสถ์และวิจารณ์มาตรการแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่าลง
นายคุโรดะ ที่มีบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบที่หนักหนาในธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเขาบอกว่ายังมีมาตรการให้ใช้อีกมากและยังไม่ขาดแคลนเครื่องมือในการแก้ปัญหา
แต่อย่างใดเขากล่าวว่า“นโยบายการเงินส่งผลกระทบด้านบวกแก่เศรษฐกิจ ผมไม่คิดว่านโยบายการเงินของญี่ปุ่นหรือธนาคารกลางของสหภาพยุโรปถึงขีดจำกัดแล้วเรายังมีพื้นที่เหลือสำหรับเงื่อนไขทางการเงินในหนทางอื่น”