เดินหน้า EEC เร่งสร้างเมืองอัจฉริยะการบิน
ที่ประชุมอนุฯ ชุด “อุตตม – สุริยะ – ศักดิ์สยาม” เร่งเสนอบอร์ดใหญ่ฯ เดินเครื่อง EEC ก่อนปิดสรุปงบสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เฉียด 3 แสนล้านบาท เก็บภาษีปีละ 6 หมื่นล้านบาท จ้างงานปีแรก 1.5 หมื่นตำแหน่งตลอด 5 ปี ด้าน “คณิศ แสงสุพรรณ” ระบุ ต้องเชื่อมรถไฟความเร็วสูงเข้าไว้ ก่อนนักท่องเที่ยว-ผู้โดยสารเครื่องบินเมิน ขณะที่ “โชคชัย ปัญญายงค์” ชี้การบินไทยต้องเร่งหาพันธมิตรเอกชน สร้างศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ส่วนตัวแทนกองทัพเรือ จี้สร้างเมืองต้นแบบ “สีเขียว-อัจฉริยะ” เก็บสายไฟฟ้ามุดลงดิน ลดอุปสรรคการบินในอนาคต
คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) จัดประชุมครั้งที่ 2/2563 โดยมี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2563
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือ EEC) กล่าวภายหลังการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกอย่างกว้างขวาง และมีมติให้เร่งนำเสนอ กพอ. โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มีรายละเอียดที่สำคัญๆ ดังนี้
ในส่วนของสาระสำคัญของโครงกาฯร มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย
1) อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal Building 3)
2) ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre)
3) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)
4) เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone)
5) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex)
6) ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)
ทั้งนี้ ใช้งบประมาณในการลงทุนจากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ รวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือ
สามารถจัดภาษีเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท โดยไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก และเกิดการจ้างงานใน 5 ปีเป็นจำนวน คาดว่าในปีแรกจะมีการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่ง
ด้านความสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออก อีอีซี วางยุทธศาสตร์ให้ เมืองการบินภาคตะวันออก ทำภารกิจสำคัญ 3 ประการคือ
1) เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
2) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC
3) เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)
นอกจากนี้ ยังมีการสรุปการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การทำงานคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมี ผบ.ทร.เป็นประธาน และมีกรรมการจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบและดำเนินการเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น รวมเวลาทำงานประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกทั้งหมด 17 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานเจรจาสัญญาทั้งหมด 19 ครั้ง
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก นั้น จำเป็นจะต้องมีศูนย์ซ่อมการบินขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้ บมจ.การบินซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯ อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเข้าร่วมดำเนินงาน หลังจากที่กลุ่มแอร์บัสประกาศทบทวนการร่วมทุน เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกจะแล้วเสร็จในปี 2567 ทำให้ บมจ.การบินไทยมีเวลามากพอจะหาพันธมิตรเอกชนรายใหม่เข้าร่วมทุนได้
“การบินไทยมีทางเลือก 2 ทาง คือ ทำด้วยตัวเองต่อไป หรือหาพันธมิตรรายใหม่มาร่วมทุนสร้างศูนย์ซ่อมการบินฯ เนื่องจากยังมีเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีครึ่ง เชื่อว่าการบินไทยคงจะพันธมิตรรายใหม่ได้ไม่ยาก ในส่วนของแอร์บัสเอง ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีและโนว์ฮาวน์แก่การบิน” นายโชคชัย กล่าว
ด้าน พล.ร.ต. เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการและคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน EEC กล่าวว่า กองทัพเรือ (ทร.) พร้อมให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการ EEC เพราะต้องการจะให้เป็น “ต้นแบบ” ของเมืองอัจฉริยะและเมืองสีเขียว เนื่องจากการเป็นเมืองการบินฯ จึงอยากเห็นการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการบินในอนาคต รวมถึงการทำให้ทั้งเมืองเป็นเมืองสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“กองทัพเรืออยากเห็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นเมืองต้นแบบทางด้านการเป็นเมืองอัจฉริยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เมืองอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการ EEC ได้นำไปเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป ซึ่งในอนาคต ไม่เพียงจะมีระบบ 5จี ใช้ในโครงการ แต่ยังมีระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิเข้าไว้ด้วยกัน จึงจำเป็นจะต้องวางแนวทางให้ชัดเจน” พล.ร.ต. เกริกไชย ระบุ
สอดรับกับมุมมองของ นายคณิศ ที่ย้ำทิ้งทวนว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ควรจะมีการความเชื่อมโยงและดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ การนำรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาเชื่อมกับพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ย่อมจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะหาก 2 โครงการไม่มีความเชื่อมโยงกันแล้ว อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารสายการบิน.