รายย่อยวอนรัฐเยียวยา-ผ่อนปรนคุมเข้มเหล้าเบียร์
7 ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง “นายกฯ – มท.1” งัด 3 ข้อเรียกร้อง “ผ่อนปรนและเยียวยา” ผู้ได้รับผลกระทบทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและร้านอาหาร ด้านแกนนำชี้ อยากให้มองมิติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มากกว่าเป็นธุรกิจบาป เผย! เตรียมเดินสายยื่นหนังสือถึง “อุตตม” เหตุ กระทรวงการคลัง ฟันภาษีเหล้าเบียร์ปีละกว่า 1.7 แสนล้านบาท
วันที่ 27 เม.ย.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย 7 องค์กร ภายใต้การนำของ นายนิติพันธุ์ ครุฑทินตัวแทนชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ และ นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ตัวแทนชมรมผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟท์เบียร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานประกอบการ ผับ บาร์ และร้านอาหาร ต่อด้วยมาตรการสั่งห้ามจำหน่ายสุราทั่วประเทศ โดยรัฐบาลขยายผลจากเดิมที่ต้องสิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. เป็นวันที่ 30 เม.ย.
ทั้งหมดเดินทางเข้ายื่น หนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศคบ. เพื่อขอผ่อนปรนและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายสุรา โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผช.รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่องฯ บริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 จากนั้น ตัวแทนภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เดินทางต่อไปยังศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สำหรับรายละเอียดของข้อเรียกร้องดังกล่าวประกอบด้วย
1. การขอมิให้มีการขยายเวลาห้ามจำหน่ายสุราออกไปหลังวันที่ 30 เม.ย.2563 อีก และขอให้ร้านที่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุราสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อซื้อกลับบ้านหรือส่งให้ถึงบ้านได้เหมือนอาหารประเภทอื่น
2. ขอให้พิจารณาเรื่องการออกระเบียบปฏิบัติในการขอคืนภาษีและทำลายสินค้าสุราที่เสื่อมสภาพ เนื่องจากการสั่งห้ามเปิดร้านและสถานบันเทิง ส่งผลแก่ผู้นำเข้าและผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง ที่ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าออกจากสต็อกได้ตามเวลาที่ควรจะเป็น ทำให้สินค้าที่นำเข้าหรือสั่งผลิตมาจำนวนมากบางประเภทกำลังจะหมดอายุ
และ 3. ขอให้พิจารณาผ่อนปรนเรื่องการขนย้ายสุรา หากมีการห้ามจำหน่าย เนื่องจากคราฟท์เบียร์ ไวน์องุ่น และสุราแช่หลายชนิด เป็นสินค้าที่ต้องจัดเก็บตามอุณหภูมิที่กำหนด เมื่อมีการนำเข้ามาจึงต้องมีการชำระภาษีและขนย้ายเข้าไปเก็บคลังสินค้าของผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด การประกาศห้ามขายส่ง (ใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1) ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าที่เสียภาษีแล้วไปเก็บในคลังของผู้ประกอบการได้ และเกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเช่าโกดัง รวมถึงปัญหาการควบคุมอุณหภูมิในเขตปลอดภาษี
ทั้งนี้ หากมีการประกาศใดๆ จากภาครัฐ ขอให้มีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อการเตรียมการหรือมีความชัดเจนในเรื่องการขนส่งให้เสร็จสิ้นทันการ เช่น ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน เพื่อให้สินค้าที่เปิดบิลในวันที่ประกาศ ได้ดำเนินการจัดส่งเสร็จสิ้นภายใน3 วัน เป็นต้น
นายอาชิระวัสส์ กล่าวว่า การเดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เพื่อให้ ศคบ.และภาครัฐ ได้รับทราบปัญหาและความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเจ้าของธุรกิจร้านอาหารกึ่งผับ บาร์ รวมถึงให้ภาครัฐมองธุรกิจแอลกอฮอล์ในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยินดีจะปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการสาธารณสุขของรัฐ และสนับสนุนมาตรการเคอร์ฟิวและการป้องปรามตรวจจับการมั่วสุมรายบุคคล มากกว่าการประกาศห้ามจำหน่ายสุราแบบเหมารวมทั้งประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ขอให้มีมาตรการผ่อนปรนอนุญาตให้จำหน่ายแบบกลับบ้าน เหมือนร้านอาหารทั่วไป โดยหลังนี้ ทางตัวแทนภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแผนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลกรมสรรพสามิต เพื่อขอผ่อนปรนและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายสุราต่อไป
ตัวแทนภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย 7 องค์กร ระบุว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีจากเบียร์ 70,090 ล้านบาท จัดเก็บภาษีสุราอีก 62,146 ล้านบาท รวมเป็นรายได้ภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัก รวมกันถึง 132,236 ล้านบาท นำไปสู่การผันงบเพื่อพัฒนาประเทศ อาทิ นำส่ง กทม.และหน่วยงานเทศบาล 10%หรือ 14,100 ล้านบาท เพื่อเอาไปเป็นงบประมาณ, นำส่ง สสส. , สมาคมกีฬา และคนชรา แห่งละ 2% หรือ 2,800 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ทำโครงการฯ ในหน่วยงานและสมาคมฯ, นำส่งสถานีไทยพีบีเอส จำนวน 1.5% หรือ 2,100 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสถานี และนำส่งในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 7% หรือไม่ต่ำกว่า 11,500 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นงบประมาณรัฐ
“ทั้งหมดนี้รวมแล้ว ไม่ต่ำกว่าปีละ 177,000 ล้านบาท ที่สร้างเงินหมุนเวียนในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อย การหมุนเวียนของ Supply Chain เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงการท่องเที่ยว จากตัวเลขการจัดเก็บภาษีในปีที่ผ่านมานี้เอง จึงกลายเป็นคำถามจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดร้าน สถานบันเทิงและการประกาศห้ามจำหน่ายสุรา ว่า ภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาใดๆ ให้แก่ผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายบ้างหรือไม่ เพื่อต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างพวกเรา” นายอาชิระวัสส์ กล่าว และว่า
การขอผ่อนปรนและเรียกร้องมาตรการเยียวยาจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงที่ต้องการให้ภาครัฐมองอย่างใจเป็นกลางในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน เพราะการที่ภาครัฐประกาศห้ามจำหน่ายสุราด้วยหวังจะป้องปรามการกระทำผิดเฉพาะบุคคล กำลังกลายเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคทั้งประเทศที่เขาเองก็ประพฤติตนตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และ หากยังขยายระยะเวลาห้ามจำหน่ายสุราออกไป โดยไม่มีการชดเชยหรือมาตรการเยียวยาใดๆ เพิ่มเติมแล้ว คาดว่าในไม่ช้าจะกระทบต่อการเลิกจ้างพนักงาน การทยอยปิดกิจการจากระดับร้านค้าไปถึงผู้นำเข้าและผู้ผลิตฯ ขยายวงกว้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากจะกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้ง
สำหรับ 7 องค์กรภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย สมาคมผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสุราพื้นบ้านไทย สมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟท์เบียร์ ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ ชมรมเบียร์บรูเออร์แห่งประเทศไทย และชมรมผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำเบียร์.