ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มี.ค. 63 ต่ำสุด รอบ 28 เดือน
ส.อ.ท.เผย สถานการณ์ โควิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ ภัยแล้ง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นฯ มี.ค. 63 ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ชง 3ข้อเสนอ ช่วยเหลือผู้ปะกอบการ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 90.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560
ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ
ขณะที่ภาคธุรกิจประสบปัญหาในการดำเนินกิจการ อาทิ การผลิตและการจำหน่ายสินค้าลดลง รวมทั้งการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบมีความล่าช้า ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และส่งผลให้กำลังซื้อในภาคเกษตรลดลง
จากการสำรวจผู้ประกอบการ ในเดือนมีนาคม 2563 พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 67.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลกส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง และผู้ประกอบการร้อยละ 49.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้น
เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก ร้อยละ 42.3 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 31.7 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 18.8 ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 96.0 โดยลดลงจาก 98.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการประกอบกิจการใน 3 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีคลี่คลายจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการฟื้นฟูกิจการ
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. ให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาหักภาษีได้
2. เสนอให้ภาครัฐสนับสนุน E-Commerce Platform ของประเทศ เพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ 3. การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้สนับสนุนการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made in Thailand).