โป๊ะแตก!เงินกู้แบงก์รัฐหมดโปรฯ อาจดึงก้อนฟื้นฟูฯปล่อยกู้เพิ่ม
โปรหมด! เงินกู้จากแบงก์รัฐถูกจองเต็ม ไม่เหลือให้กู้อีกแล้ว? ด้าน “อุตตม” แนะเข้าร่วมโครงการเงินกู้จากแบงก์ชาติไปก่อน ยืนยันหากชาวบ้านต้องการ พร้อมอัดฉีดเพิ่มจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ระบุ! หากจำเป็นจริงๆ คลังพร้อมกันเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ 4 แสนล้านบาท ไปโปะก้อน 6 แสนล้านบาทกลุ่มเยียวยา-สาธารณสุข
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ ว่า เป็นไปเพื่อติดตามการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารของรัฐได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ มีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาและอุปสรรค อะไรบ้างที่จำเป็นจะต้องทบทวนใหม่ นอกจากนี้ ยังฝากให้ผู้บริหารธนาคารของรัฐแต่ละแห่ง กลับไปคิดมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเสริมไปจากมาตรการที่ออกไปแล้ว
โดยมาตรการที่สถาบันการเงินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM BANK) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ถือว่ามีส่วนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาตการด้านสินเชื่อ หรือมาตรการเยียวยา
ที่ผ่านมา รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ได้เข้าไปช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม นอกจาก 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มประกันสังคม และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีมาตรการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน แต่ทุกกลุ่มล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ในส่วนของกลุ่มอื่นๆ รัฐบาลก็พร้อมจะเข้าไปดูแล
“เชื่อว่าเงิน 6 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะเพียงพอต่อการนำไปใช้ในการดูแลเพื่อการเยียวยาและด้านสาธารณสุข แต่หากไม่พอและจำเป็นจริงๆ ก็สามารถจะกันวงเงินออกมาจาก 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมจะใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มาใช้เพื่อการนี้ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าเงิน 6 แสนล้านบาท เพียงพอต่อภารกิจที่จะต้องทำ”
ส่วนข้อเสนอในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีข่าวออกมาว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการจะเปลี่ยนวิธีการโอนเงินจากเดิม โอนครั้งเดียว 15,000 บาทต่อครัวเรือน เป็น 5,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน รวม 3 เดือน รวมถึงการปรับเพิ่มจำนวนครัวเรือนจากเดิม 9 ล้านครัวเรือน เป็น 14 ล้านครัวเรือนนั้น รมว.คลัง ระบุว่า ตนยังไม่เห็นข้อเสนอดังกล่าว คงต้องรอดูข้อสรุปจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงการคลัง (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันก่อนว่าจะออกมาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปลี่ยนวิธีการโอนเงิน ส่วนตัวคิดว่าอยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการได้ เพราะอยู่ในกรอบของวงเงินเดิมที่กำหนด ส่วนการเพิ่มจำนวนครัวเรือนของเกษตรกรนั้น คงต้องรอการรายงานจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯเสียก่อน
นายชาติชาย พยุหานาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวเสริมว่า มาตรการในส่วนสินเชื่อของธนาคารออมสินที่ได้ปล่อยกู้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ซอฟท์โลน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ต่อให้แก่ประชาชน 5.5 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ผ่านนอน-แบงก์ (ลิซซิ่ง) 80,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ธุรกิจท่องเที่ยว 1,600 ราย รวม 8,000 ล้านบาท และการปล่อยกู้อื่นๆ โดยมีสินเชื่อที่ธนาคารฯเก็บไว้ปล่อยกู้ให้กับทุกกลุ่ม 5,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการเงินกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย และเงินกู้พิเศษ 50,000 บาทต่อราย รวมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดมีการยื่นแสดงความจำนงขอกู้เต็มวงเงินหมดแล้ว
โดยในส่วนของโครงการเงินกู้ฉุกเฉิน (10,000 บาท) แม้จะมีผู้ยื่นขอกู้เต็มวงเงินแล้ว แต่ธนาคารฯยังคงเปิดรับลงทะเบียนต่อไป เพื่อกันสำรองกรณีที่อาจมีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติการขอกู้ โดยจะกันเพิ่มอีกราวร้อยละ 10-20 ขณะที่เงินกู้พิเศษ (50,000 บาท) ถือว่าโครงการปิดลงแล้ว ซึ่งธนาคารฯจะนัดหมายให้ผู้ลงทะเบียนขอกู้ฉุกเฉินและเงินกู้พิเศษมาทำสัญญาที่สาขาใกล้บ้านในวันที่ 7-9 พ.ค.นี้ คาดว่า สาขาที่มีกว่า 1,000 สาขา สามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 100 คนต่อวัน ตามข้อกำหนดด้าน “โซเชียล ดิสแทนซิ่ง” จะทำให้ผู้ลงทะเบียนกว่า 2 แสนคนได้รับนัดหมายและทำสัญญากู้ได้ภายใน 20-30 วัน เช่นเดียวกับโครงการเงินกู้ฉุกเฉินของ ธ.ก.ส. ที่มีผู้ลงทะเบียนกู้เงินฉุกเฉินเต็มวงเงินแล้วเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถาม หากประชาชนมีความต้องการเงินกู้เพิ่มมากกว่านี้ รัฐบาลและสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมจะเพิ่มวงเงินหรือไม่? นายอุตตม กล่าวว่า คงต้องรอดูการปล่อยกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อน หากความต้องการสินเชื่อดังกล่าว สามารถเข้าโครงการของ ธปท. ที่จะดำเนินการผ่านสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนได้ ตนก็อยากให้ใช้ช่องทางดังกล่าวเสียก่อน ทั้งนี้ หากจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้ธนาคารของรัฐ ก็ยังมีงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯรองรับอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโจทย์ใหม่ที่ นายอุตตม มอบหมายให้ธนาคารของรัฐ กลับไปทบทวนมาตรการเดิม พร้อมกับคิดมาตรการใหม่เพิ่มเติมนั้น ทั้งหมดจะต้องอิงกับแผนใหญ่ คือ พ.ร.ก.กู้เงินฯของกระทรวงการคลัง และธปท. รวมถึงจะต้องสอดรับกับภารกิจหลักของแต่ละธนาคารฯ
ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธ.ก.ส. กล่าวว่า ตนขอฝากไปยังเกษตรกรทุกคนถึงการรับโอนเงินช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ว่า ไม่จำเป็นจะต้องมีบัญชีของ ธ.ก.ส. จึงจะรับโอนเงินและเบิกเงินได้ ใครมีบัญชีธนาคารของธนาคารใด ก็สามารถรับโอนเงินและเบิกเงินได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องไปเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ส.ก.แต่อย่างใด ขณะเดียวกัน หากเกษตรกรใด มีทั้งบัญชีธนาคารของ ธ.ก.ส.และของธนาคารอื่นๆ ก็สามารถใช้บัญชีของธนาคารอื่นๆ รับโอนและเบิกเงินได้เช่นกัน.