พพ.นำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟ บริหารพลังงาน
พพ. นำร่องติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป 75 กิโลวัตน์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน บนหลังคาสำนักงาน โชว์เป็นแหล่งเรียนรู้บริหารจัดการพลังงานด้วยระบบกักเก็บพลังงาน
นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพลังงาน (พพ.) กล่าวภายหลังเป็นประธาน เปิดงานสัมมนาแถลงผล “โครงการพัฒนา และทดสอบการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีการบริหารจัดการสภาวะการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้ไฟฟ้าในหน่วยงานราชการในเขตการไฟฟ้านครหลวง” ว่า การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์รูฟท็อป บนหลังคาอาคารสำนักงาน พพ. ขนาด 75 กิโลวัตต์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด 70 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคาร (Building Energy) ซึ่งถือเป็นอาคารต้นแบบครั้งแรกของภาครัฐที่นำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้ร่วมกับระบบบริหารจัดการด้านพลังงานทำให้สามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าที่มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดภายในสำนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากจะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการให้หน่วยงานของ พพ.มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าและมีไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น พพ.ยังได้เปิดอาคารสำนักงานดังกล่าวเป็นแหล่งสาธิตการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับหน่วยงานต่างๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้แนวทางเพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทางด้านพลังงานให้กับอาคาร สำนักงานต่อไป
ด้าน ดร. เกียรติศักดิ์ รุ่นพระแสง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้จัดการโครงการพัฒนาและทดสอบการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีการบริหารจัดการสภาวะการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้ไฟฟ้าในหน่วยงานราชการในเขตการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และระบบบริหารจัดการดังกล่าวนี้ คิดว่าเป็นครั้งแรกของภาครัฐที่นำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้รวมกับระบบบริหารจัดการ การบริหารพลังงานทั้งด้านดีมานไซด์และซัพพลายไซด์ ซึ่งก็จะทำให้เกิดมิติใหม่ในการบริหารจัดการพลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์ ที่ พพ.นับเป็นแห่งแรก โครงการที่เกี่ยวกับการออกแบบวิจัย รวมถึงการนำผลของไฟฟ้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของพลังงานสูงสุด ซึ่งประกอบไปด้วย โซลาร์เซลล์ ขนาด 75 กิโลวัตน์ ระบบแบตเตอรี่ และระบบเมมส์