“บิ๊กตู่” บนทางสองแพร่งโควิด-19 คลายล็อกดาวน์-ดับฝันเซ็ตซีโร่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เดินมาถึง “ทางสองแพร่ง”
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 “ต้องเลือก” ระหว่าง “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้”
ไปต่อ โดยการ “ต่ออายุ” พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2563 ออกไปอีก ไม่เกิน 3 เดือน
พอแค่นี้ เพื่อ “คลายล็อก” ประกาศ-คำสั่ง-ข้อกำหนด “ปิดสถานที่ชั่วคราว” อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม-เสริมสวย และ “ยกเลิก” การห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น.
แพร่งที่หนึ่ง เป็นการ “รีสตาร์ท” กิจกรรมทางเศรษฐกิจ “ห่วงโซ่” การจับจ่ายใช้สอยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายใต้การระยะห่างทางเศรษฐกิจ-สังคมรูปแบบใหม่ (new normal)
กลับสู่กลไกการบริหารสถานการณ์กึ่งรัฐปกติ-คงไว้ซึ่งอำนาจพิเศษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินบางมาตรา
สำหรับตุ๊กตาที่หยิบยกขึ้นมาถกกัน “ศบค.วงเล็ก” ถึงมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” การเปิดห้างสรรพสินค้า มาตรการ-คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ ด้านสถานที่มีบริเวณชัดเจน สามารถจัดบริเวณนั่งรอรับบริการห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
2.เปิดร้านที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ร้านโทรศัพท์ ธนาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.ค่อย ๆ ทยอยขยายการเปิดร้านทุกสัปดาห์ เมื่อไม่พบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องในห้าง
4.จำกัดจำนวนคนเข้าไม่เกิน 1 คนต่อตารางเมตร (อาจพิจารณาให้มีทางเข้าออกทางเดียว) หรือ จำกัดระยะเวลาจอดรถ
ด้านบริการ 1.ไม่มีการจัดกิจกรรมที่อาจทำให้คนรวมตัวกัน เช่น โปรโมชั่น นาทีทอง 2.โซนอาหารให้จัดที่นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร หรือ ให้ปิดเฉพาะ Take away
พนักงานและเจ้าของร้าน ต้องมีการคัดกรองและอนุญาตเฉพาะผู้สวมหน้ากากเท่านั้นที่สามารถเข้าห้างได้ การทำความสะอาด 1.มีแอลกอฮอล์เจลให้ทุกคนล้างมือก่อนเข้าห้างสรรพสินค้า
2.มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ พื้นผิวสัมผัส ห้องสุขา ทุกชั่วโมง
มาตรการ-คำแนะนำสำหรับผู้รับบริการ 1.ใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในห้าง 2.คัดกรองอาการไข้หรืออาการทางเดินหายใจก่อนเข้าห้าง
แพร่งที่สอง เกิดการ “ชัตดาวน์” เศรษฐกิจรอบใหม่ มี “ต้นทุน” ที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น “ซ้ำรอย” ประเทศสิงค์โปรและญี่ปุ่น จนต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง…กลับไปนับ 1 ดับความฝันผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์-เซ็ตซีโร่”
องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือน ว่า การกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติในหลายประเทศอาจจะยังเร็วเกินไป ความพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง
ดังนั้น ต้องทำด้วยความรอบคอบและประสานงานกับทุกภาคส่วน จึงต้องมี ดังนี้ 6 ข้อ 1.สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว
2.ระบบสุขภาพต้องสามารถ “ตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค” 3.มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา
4.โรงเรียน สำนักงานและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ 5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้เดินทางเข้าประเทศไทย
6.คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค ทั้งนี้ เป็นข้อที่ยากที่สุด
การเปิดร้านตัดผม ดังนี้ มาตรการ-คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่ ด้านสถานที่ 1.จัดที่นั่ง ที่นอนสระผมให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และไม่ให้มีที่นั่งรอในร้าน แต่ใช้บัตรคิวแทน
ด้านระยะเวลา ต้องให้บริการที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เช่น สระผม ตัดผม เท่านั้น ด้านบริการ ต้องงดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เช่น อุปกรณ์แต่งหน้า
พนักงานต้องใส่หน้ากากผ้าทุกคน ล้างมือทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย ให้พนักงานหยุดงานเมื่อมีอาการไข้หรืออาการทางเดินหายใจ
การทำความสะอาด ต้องล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำและผงซักฟอกทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย เช็ดพื้นผิวสัมผัสทุกชั่วโมงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้าร้าน
มาตรการ-คำแนะนำสำหรับผู้รับบริการ 1.ใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในร้านตัดผม 2.ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้าน
เป็นทางสองแพร่งที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะ “แม่ทัพโควิด-19” ต้อง “ตัดสินใจ” ภายใต้ “แรงกดดัน” ทั้งจากคนหาเช้ากินค่ำ-ลูกจ้างรายวัน อย่างน้อย 27 ล้านคนที่ลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” รอคอยการเยียวยารายละ 5,000 บาท
รวมถึง “ธุรกิจขาใหญ่” ที่พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งขึ้นมาเป็น “คณะที่ปรึกษาภาคธุรกิจ” ดีดลูกคิดแล้ว หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รัฐบาล “เอาไม่อยู่” จะส่งผลกระทบต่อแรงงานทำให้มี “คนตกงาน” กว่า 10 ล้านคน
โดย “คณะที่ปรึกษาภาคธุรกิจ” จะประชุมเพื่อส่งแผน “รีสตาร์ทธุรกิจ” ในวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563 เพื่อนำเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาประกอบการต่อ-ไม่ต่อระยะเวลาการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-คลายล็อกดาวน์ ก่อนถึง “เส้นตาย”