10 ปลัด 20 มหาเศรษฐี รัฐบาลนี้ทำอะไร?
บทบาทที่เหลือน้อยของ รมต.พรรคร่วมรัฐบาล จะส่งผลอย่างไร? ต่ออนาคตรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่…ไม่เพียงส่งเทียบเชิญ 20 มหาเศรษฐี เพื่อมาให้มุมมองหาทางออกของชาติ หากแต่การ ตั้ง “ขรก.ประจำ” มาทำงานแทนฝ่ายการเมือง สิ่งนี้…จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โชว์ความเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ให้เห็นกันจะจะ เมื่อคราวออกแถลงการณ์เมื่อช่วงเย็นวันที่17 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะบอกประโยคที่ทำเอาคนไทย อึ้ง! กันทั้งประเทศ…
“ผมจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง
ท่านมหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลาย ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ผมขอให้ท่าน ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา…”
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ นายกรัฐมนตรี ที่กำลังสวมหมวก “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” และ “ผอ.ศอฉ.โควิก-19” จะดึงเอาบรรดามหาเศรษฐี 20 อันดับแรกของประเทศ ซึ่งรวยติดอันดับโลก มาร่วมหารือถึงแนวทางการสร้างทางออกใหม่ให้กับประเทศนี้
ก่อนหน้านี้…สมัย “รัฐบาลคสช.” เคยมี โครงการ “ประชารัฐ” ที่ดึงเอาศักยภาพของภาคธุรกิจสำคัญและมีขนาดใหญ่ มาร่วมทำงานในลักษณะ “3 ประสาน” ระหว่าง…ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
ครั้งนั้น คนไทยได้เห็น…เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ของตระกูล“เจียรวนนท์” กลุ่มไทยเบฟฯ (เบียร์ช้าง) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และอีกบางธุรกิจของคนในตระกูลดัง มาร่วมโครงการฯข้างต้นกันอยู่แล้ว
จะว่าไปแล้ว…ตระกูลของเจ้าสัวซีพี และเจ้าสัวไทยเบฟฯ รวมถึงเจ้าสัวในบางตระกูล ต่างก็ติดกลุ่มนำของ “20 มหาเศรษฐี” พูดได้ว่า…มีประสบการทำงานกับรัฐบาลชุดนี้ และคุ้นชินกันมาตั้งแต่ “รัฐบาล คสช.”
ที่น่าสนใจ ก็คือ ในบรรดา 1 ใน 20 มหาเศรษฐีที่ว่านี้ มี ลำดับที่ 16. ซึ่ง นิตยสารฟรอบส์ ประเทศไทย จัดเอาไว้เมื่อช่วงปลายปี 2562 ปรากฏชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” และธุรกิจเอสซี แอสเซท ที่มีทรัพย์สินมูลค่า 1.85 พันล้านเหรียญ หรือราว 6.04 หมื่นล้านบาท รวมอยู่ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จะออกและส่งจดหมายเชิญ 20 มหาเศรษฐีครบทุกคนหรือไม่? หรือจะเว้นวรรคกับมหาเศรษฐีบางคน? โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร?
ในทางกลับกัน หาก นายกรัฐมนตรีที่มีดีกรีเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่งเทียบเชิญครบทั้ง 20 คน แล้วจะมีมหาเศรษฐีบางคน ปฏิเสธจะเข้าร่วมหารือกับ “ผู้นำประเทศ” หรือไม่? เป็นสิ่งที่…คนไทยและคนทั่วโลกเฝ้าจับตากันอยู่!
หลายคนอาจสงสัย? พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยบทบาทใด? ที่จะส่งเทียบเชิญ 20 มหาเศรษฐีที่ว่านี้ หากใช้หมวก “นายกรัฐมนตรี” หรือ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” อาจไม่ขลังพอ จำเป็นหรือไม่จะต้องใช้หมวกใหญ่ในฐานะ “ผอ.ศอฉ.โควิด-19” ระหว่างที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีผลบังคับใช้กันอยู่ และหากใช้ตำแหน่งหลัง…จะครอบคลุมไปถึงมหาเศรษฐีที่อาศัยอยู่ในต่างแดนหรือเปล่า?
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นให้ต้องขบคิดกันอีก นั่นคือ หากมีเวทีระหว่าง…รัฐบาล และ 20 มหาเศรษฐี เกิดขึ้นจริง ซึ่งแน่นอนว่า…เวทีนี้ คงไม่เปิดช่องให้สื่อมวลชนหรือคนนอกเข้าร่วมสังเกตการณ์แน่ และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ส่งสัญญาณในทำนองนี้ออกมาแล้ว
ประเด็นคือ…พล.อ.ประยุทธ์ จะผูกขาดการ “ถือไมค์…โชว์พาว” เหมือนที่เคยทำกับคณะรัฐมนตรี และข้าราชการประจำ อีกหรือไม่? แล้วบรรดา เจ้าสัวตระกูลดัง ที่แต่ละคน…ผ่านประสบการณ์ ทั้งความสำเร็จและล้มเหลวมามากมาย จะกล้าแสดงมุมมอง เสนอความคิดเห็น หรือโชว์วิสัยทัศน์ กันหรือเปล่า?
เสนอแล้ว…รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จะรับฟัง หรือนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผลหรือไม่ อย่างไร และแค่ไหน
จะว่าไปแล้ว…ที่ผ่านมา แม้ในบรรดามหาเศรษฐีเหล่านี้ จะมีหลายตระกูลที่ ทำบัญชีกันหลายชั้น แต่เงินภาษีส่วนใหญ่ ที่ถูกนำไปใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯในแต่ละปีนั้น มากจากคนกลุ่มนี้…สูงมาก
พูดง่ายๆ ทุกวันนี้…มหาเศรษฐี 20 ตระกูลดัง ล้วนจ่ายเงินภาษีให้กับแผ่นดิน เสมือนช่วยเหลือรัฐบาล ช่วยเหลือประเทศนี้กันอยู่แล้ว มีเหตุผลและความจำเป็นใดที่จะต้องมาร่วมมือกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ อีก?
อีกเรื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้นก่อน แต่เกิดในวันเดียวกัน นั่นคือ การประชุมนัดแรกของ 10 ปลัดกระทรวงฯ ในนาม “คณะกรรมการการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ซึ่งรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งให้ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ประธานฯ และมีผลการประชุมออกแล้วมาว่า…
ที่ประชุมหารือกรอบการใช้เงินที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมฯได้แยกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ 2.กลุ่มประกันสังคม 3.กลุ่มเกษตรกร และ 4.กลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้พิการ คนชรา คนไร้บ้าน
ทำอย่างไรถึงจะใช้เม็ดเงิน 1 ล้านล้านอย่างเพียงพอและทั่วถึงทุกกลุ่ม!?
กลุ่มไหนที่ยังมีปัญหา ก็ให้ “ต้นสังกัด” เช่น กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ที่สัมพันธ์กับกลุ่มที่ 3 และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สัมพันธ์กับกลุ่มที่ 4. ไปหาข้อมูลกันมา เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมฯอีกครั้งในสัปดาห์หน้า (20-25 เม.ย.)
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้ จะดูทางการด้านเยียวยาที่ไม่ใช่ตัวเงิน โดยให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดูว่า ยังพอมีค่าธรรมเนียม หรือค่าใบอนุญาตต่างๆ ที่สามารถจะผ่อนปรนให้ประชาชนได้หรือไม่ เช่น การยืดเวลาจ่าย โดยให้เสนอกลับมาเพื่อดูรายละเอียดอีกครั้งในการประชุมต่อไป จากนั้น จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
นั่นแค่บางส่วนของมาตรการที่จะมีออกมาจาก คณะกรรมการฯ ชุด “10 ปลัดกระทรวง”
ถึงตรงนี้ คงมีหลายคนตั้งคำถามในทำนอง…พล.อ.ประยุทธ์ คิดอะไรอยู่? เพราะการตั้ง “10 ปลัดกระทรวง” รวมถึง “ศอฉ.โควิด-19” ก่อนหน้านี้ โดยไม่มีฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมทำงานเหมือนตอนภาวะปกตินั้น ไม่ต่างอะไรกับการ “ยึดอำนาจ” การทำงานของรัฐมนตรีมากนัก?
แล้วยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ส่งเทียบเชิญ 20 มหาเศรษฐี มาร่วมหารือและเสนอแนะทางออกของประเทศ ซึ่งน่าจะเป็น “ครั้งแรกและครั้งเดียว” ของการบริหารประเทศในยามนี้
รัฐบาลต้องการอะไรกันแน่? หรือว่า…อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันจะมากล้น จนมองไม่เห็นศรีษะของรัฐมนตรี จากพรรคร่วมรัฐบาล
คราว เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญรอบหน้า…จะเกิดอะไรขึ้น! หากต้องพิจารณากฎหมายสำคัญๆ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 หรือว่า…ฟางเส้นสุดท้าย ใกล้จะขาดแล้ว!!!.