SCB EIC 4 ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการฟิตเนส ช่วงโควิด-19
การแพร่กระจายของ COVID-19 ยิม ฟิตเนส และสตูดิโอออกกำลังกาย ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มระยะห่างทางสังคม โดยฟิตเนสหลายแห่งได้ปรับตัวผ่านการนำเสนอคลาสออกกำลังกายออนไลน์ที่สมาชิกสามารถเล่นตามที่บ้านได้ การเทรนส่วนตัวผ่าน video call หรือการให้สมาชิกเลือกเวลาเพื่อให้เทรนเนอร์ไปสอนที่บ้านได้
คุณพิมใจ ฮุนตระกูล นักวิเคราะห์อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าเมื่อสถานการณ์ COVID-19 สิ้นสุด เป็นไปได้ว่า ฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายจะยังคงได้รับผลกระทบยาวนาน แม้ว่าการ lock down จะจบลงไปแล้วก็ตาม เนื่องจากสมาชิกบางกลุ่มอาจยังกังวลที่จะกลับไปใช้บริการตามปกติ อีกทั้งการหาสมาชิกใหม่ยากขึ้นด้วยภาวะเศรษฐกิจ หรือการที่สมาชิกสามารถออกกำลังกายที่บ้านได้ระหว่าง lock down ทำให้มีแนวโน้มยกเลิกการเป็นสมาชิก รวมถึงฟิตเนสต้องมีมาตรการเพิ่มการรักษาความสะอาดที่มากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก ซึ่งหมายถึงค่าบริหารจัดการที่สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ฟิตเนสยังมีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการจ้างเทรนเนอร์ที่ลดลง เพราะเทรนเนอร์หลายคนมีการปรับตัวโดยการไปสอนตามบ้านเพื่อหารายได้เสริมในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งการสอนส่วนตัวตามบ้านจะทำให้ลูกค้าจ่ายเงินน้อยกว่า และเทรนเนอร์ได้เงินมากกว่าเพราะไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นให้กับฟิตเนส
อีไอซีเสนอคำแนะนำ 4 ข้อสำหรับผู้ประกอบการฟิตเนสเมื่อต้องปรับตัวในช่วง lock down และเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนี้
1.เพิ่มบริการเช่าหรือยืมอุปกรณ์ออกกำลังกาย สำหรับการออกกำลังกายที่บ้านของสมาชิก เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เอง โดยเป็นบริการเพิ่มเติมนอกเหนือคลาสและการสอนตัวต่อตัวออนไลน์ในช่วงที่ฟิตเนสยังต้องปิดตัวอยู่ เช่น crossfit ยิมที่สก็อตแลนด์ อนุญาตให้สมาชิกยืมอุปกรณ์ไปเล่นที่บ้านได้แม้แต่เครื่องกรรเชียงบก
2.ออกมาตรการสร้างระยะห่างโดยการจำกัดจำนวนสมาชิก, เทรนเนอร์ในพื้นที่ และลดจำนวนคนเข้าในแต่ละคลาสเมื่อกลับมาเปิดให้บริการในระยะแรก โดยฟิตเนสในจีนที่เพิ่งเริ่มเปิดกลับมาระยะแรกก็จำกัดจำนวนสมาชิกที่เข้าได้ครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมงโดยสมาชิกต้องจองเวลาใช้ไว้ก่อน
3.จัดทำเกณฑ์ในการขยายเวลาพักการเรียกเก็บค่าสมาชิกหรือยืดเวลาการเป็นสมาชิกให้แก่ลูกค้าบางกลุ่มที่อาจจะยังกังวลที่จะกลับไปใช้บริการตามปกติ โดยอาจจะพิจารณาจากกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงก่อน เช่น ผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นต้น
4.สื่อสารกับลูกค้าด้านมาตรการเว้นระยะห่างและรักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนอบรมและกำชับพนักงานด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ที่อาจจะส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายปิดธุรกิจอีกครั้ง สุดท้ายผู้ประกอบการธุรกิจควรพิจารณาพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสาน การออกกำลังการทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์.