ยอดส่งออกและนำเข้าจีนต่ำกว่าเป้า
เศรษฐกิจของประเทศจีนในเวลานี้เริ่มก่อให้เกิดความกังวล หลังจากตัวเลขแสดงให้เห็นว่าทั้งการส่งออกและนำเข้าซบเซาลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย.
อ้างอิงจากข้อมูลอย่างเป็นทางการ ยอดส่งออกของจีนลดลง 1.8% ส่วนการนำเข้าลดลง 10.9% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.ปีพ.ศ.2558 ซึ่งตรงข้ามกับเดือน มี.ค.ที่ถือว่าการส่งออกฟื้นตัว
ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของจีนลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 18 ชี้ให้เห็นว่าอุปสงค์ในประเทศยังคงซบเซา แม้จะมีการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
โดยก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า การส่งออกในเดือน เม.ย.จะลดลงเพียง 0.1% หลังจากพุ่งขึ้นกว่า 11.5% ในเดือน มี.ค.และพวกเขายังคาดการณ์สำหรับการนำเข้าไว้ว่าจะลดลงเพียง 5% หลังจากลดลง 7.6% ในเดือน มี.ค.เช่นเดียวกัน
นายโจว เฮ่า นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “ยอดส่งออกและนำเข้าถือว่าลดลงกว่าที่คาดไว้ เป็นไปตามผลกระทบของการค้าทั่วเอเชียที่ซบเซาลง ชี้ให้เห็นว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายสำหรับตลาดประเทศเกิดใหม่ โดยตลาดบางประเภทอาจจะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไมไ่ด้”
ประเทศจีนส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญคือสหรัฐอเมริกามากที่สุด แต่ตัวเลขการส่งออกลดลง 9.3% ในเดือนเม.ย. ในขณะที่ยอดส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 3.2%
การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศจีนชะลอตัวลง 6.7% ในไตรมาสแรกของปีนี้ นับว่าถดถอยลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินทั่วโลกๆ แต่เนื่องจากตัวเลขในเดือนมี.ค.ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 6 ครั้งตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในเดือนเม.ย.ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังไม่มีเสถียรภาพอย่างแท้จริงตัวเลขของทั้งสองเดือนและการสำรวจของภาคเอกชนในเดือนเม.ย.เผยให้เห็นภาพรวมของภาคการผลิตของจีน
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือพีเอ็มไอ แสดงให้เห็นว่ามีการขยับตัวเล็กน้อยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ในทางกลับกัน ผลการสำรวจของดัชนีไฉซินชี้ว่านี่คือการถดถอยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 โดยจีนเคยประกาศว่า จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อกระตุ้นการส่งออก รวมถึงการสนับสนุนให้ธนาคารปรับเพิ่มสัดส่วนการให้สินเชื่อและเพิ่มส่วนลดภาษีให้กับบางบริษัท.